
คอลัมน์ สามัญสำนึก ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม
การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร
ผลโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 รอบแรก เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเดินทางไม่ถึงทำเนียบ
เป็นจังหวะที่ต้องยกหูเช็กข่าวผู้ประกอบการ ผู้บริหารธุรกิจ ซึ่งได้รับข้อคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ฉากทัศน์ต่อจากนี้น่าจะเกิดความชุลมุนวุ่นวายในระดับหนึ่ง ข้อกังวลใหญ่สุดคือไม่อยากเห็นการเมืองลงถนน
สมัยเป็นกระจิบข่าววัยละอ่อน จำได้ขึ้นใจกับคำให้สัมภาษณ์ของ คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
คุณสุวัจน์มีดีกรีจบวิศวะ ม.เกษตรศาสตร์ นำองค์ความรู้เอ็นจิเนียร์ มาออกแบบการบริหารจัดการในส่วนที่รับผิดชอบ คำพูดวรรคหนึ่งก็คือ ทำอะไรก็ตาม จะมี safety factor เพื่อป้องกันความผิดพลาด เช่น คำนวณมาแล้ว 100% หลักวิศวกรรมจะเสริมเซฟตี้แฟกเตอร์เข้าไปอีก 1.5 เท่า แต่คุณสุวัจน์จะเสริมถึง 2.5 เท่า
เป็นความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นำมาหยิบใช้ในการทำมาหากินจนทุกวันนี้
สำหรับปี 2566 ทุก ๆ ครั้งช่วงเริ่มต้นของปี ผู้ประกอบการจะให้กำลังใจตนเอง ด้วยการประกาศแผนธุรกิจมุ่งสู่การสร้างอัตราการเติบโต แต่หนทางทำให้สำเร็จช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน เพราะมีปัจจัยเสี่ยงใหม่ ๆ เข้ามาท้าทายตลอดเวลา
หายนะจากสถานการณ์โควิด ที่ควรจะจบลงตั้งแต่ปี 2564 ก็มาเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนต้นปี 2565 แถมลากยาวข้ามปีอีกต่างหาก
ปี 2566 ฝากความหวังว่าทั่วโลกเปิดประเทศ เป็นเวลาแห่งการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังเสียที
ประเทศไทยก็มีปัจจัยท้าทายขึ้นมาอีก ว่าด้วยการเลือกตั้งทั่วไปในรอบ 8-9 ปี ผลเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ 14 พฤษภาคม 2566 คะแนนเสียงพลิกล็อก พรรคสีส้มชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 151 ส.ส. พรรคสีแดงห่างกันแค่ 10 ส.ส. แบบนี้ก็สนุกล่ะสิ
มองผ่านมุมคนหาเช้ากินค่ำ โฟกัสวงการอสังหาริมทรัพย์ ไทมิ่งของการเลือกตั้งช่วงกลางปี นำมาซึ่งขั้วบวกขั้วลบได้ทั้งนั้น เดิมพันได้เสียของเจ้าของธุรกิจมีสูงลิบลิ่ว ดังนั้น จึงได้เห็นแผนลงทุนเสริมใยเหล็ก คำนวณเซฟตี้แฟกเตอร์ไว้เรียบร้อย ด้วยการหลับตาข้างหนึ่งให้กับไตรมาส 3/66
เหตุผลเพราะการเมืองมีแรงกระเพื่อมจากปัจจัยท้าทายเต็มไปหมด เลือกตั้งจบแต่คนไม่จบ กว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ กว่าจะไหว้ครูเสร็จ ภาคเอกชนเขาทำใจไว้แล้วว่า ไตรมาส 3/66 คงเป็นไตรมาสที่หายไป จากนั้นค่อยมาเก็บแต้มลงทุนอีกครั้งในไตรมาส 4/66
ปัญหาอยู่ที่การเลือกตั้งจบ คนไม่จบ เขย่าขวัญคอร์ปอเรตชนิดขนแขนสแตนด์อัพกันเป็นแถว
คุยกับ “พี่โด่ง-พีระพงศ์ จรูญเอก” นายกสมาคมคอนโดฯ และ CEO ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เจ้าของสถิติลงทุน 14 ปี มูลค่าโครงการสะสม 2.3 แสนล้านบาท ถอนหายใจเฮือก ๆ ร้องขอผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ช่วยกันประคับประคองให้การเมืองไปต่อได้อย่างราบรื่นและสงบสุข
แต่ก็แอบยอมรับว่าปลายปีนี้อาจต้องมีการทบทวนแผนลงทุน ยอดขาย ยอดโอน อาจไม่มาตามนัด อาจลดลงถึง 10-20% เพราะการเมืองลงถนนเมื่อไหร่ นักท่องเที่ยวต่างชาติคงขวัญกระเจิงไปเหมือนกัน
คุยกับ “ดร.บี-สุริยา พูลวรลักษณ์” MD เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ตอบอ้อมไปอ้อมมาว่า คงต้อง wait&see ปัจจัยการเมือง เห็นท่าไม่ดี 2 คอนโดฯใหม่ที่เงื้อง่าจะลงทุนในไตรมาส 4/66 ก็อาจต้องเลื่อนไปเปิดปีหน้าแทน
และยอมรับด้วยสปิริตนักธุรกิจว่า ปี 2566 ยังไม่สามารถทำตัวเลขกลับมาฟื้นฟูเท่ายุคก่อนโควิดในปี 2561 ที่เคยทำได้สูงสุดกับยอดรับรู้รายได้ 7,000 ล้านบาท
ส่วนไตรมาส 3/66 เลือกลงทุนบ้านแนวราบระดับลักเซอรี่ราคา 10-30 ล้าน เพราะคำนวณเซฟตี้แฟกเตอร์ไว้แล้วว่า…น่าจะรอด เพราะลูกค้าเป็นเศรษฐีเงินเย็น
ดูเหมือนว่าการเมืองยิ่งตีปี๊บลงถนนมากเท่าไหร่ การทำธุรกิจยิ่งวังเวงมากเท่านั้น
ปกติไตรมาส 3 ของปีมีเวลา 3 เดือนเหมือนไตรมาสอื่น ๆ
แต่ปีนี้ ไตรมาส 3/66 คงต้องท่องคาถาตัวใครตัวมัน เพราะอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ค่ะ