
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สมถวิล ลีลาสุวัฒน์
ทำไมหนอ เมื่อมองบ้านมองเมืองแล้วใจหดหู่ พอดีมาอ่านบทเขียนของ “วินทร์ เลียววาริณ” จากหนังสือ ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว ที่กะเทาะชีวิต “สุรพล โทณะวณิก” ทำให้เราซึ้ง และลืมทุกข์
สุรพล โทณะวณิก ที่คุณวินทร์กล่าวถึง คือ นักแต่งเพลงไทย นักเขียน นักข่าว นักหนังสือพิมพ์เป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี 2540 เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2474 อายุ 92 ปีแล้ว เป็นคนแต่งเพลง “ใครหนอ” ที่เราชื่นชอบ
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
คุณวินทร์เริ่มต้นว่า… “โลกเราเป็นโรงละครฉากหนึ่งให้มนุษย์เกิดมาแสดงบทบาทละครของแต่ละคน”
สุรพลเป็นเด็กจรจัดอาศัยอยู่ที่ใต้เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าอยู่หลายปี เขาเติบโตในกองขยะ แต่เป็นลูกท่านขุน แม่เป็นเมียน้อยคนที่ 3 วัยเด็กอาศัยอยู่กับยาย จนอายุ 6 ขวบไปอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยงที่กรุงเทพฯ แล้วหนีออกจากบ้านใช้ชีวิตเป็นเด็กเร่ร่อนอยู่แถวสะพานพุทธฯ
ที่เชิงสะพานพุทธมีสามล้อรับจ้างข้ามไปมา แต่สะพานชันเกินกว่าคนถีบสามล้อจะพารถขึ้นไปได้ด้วยแรงสองขา ต้องอาศัยเด็ก ๆ แถวนั้นช่วยเข็นให้ คนขี่สามล้อจะโยนเหรียญห้าสตางค์ สิบสตางค์ ให้เด็กเข็นรถ มันเป็นค่าข้าวของเขา
สุรพลใช้ริมถนนเป็นบ้าน นอนบนทางเท้าบ้าง ในดงขยะบ้าง บางครั้งก็นอนในหัวเรือเอี้ยมจุ๊น ซึ่งจอดที่คลองตลาดบ้านสมเด็จฯ ในหน้าหนาวอากาศเย็นจัด เขาต้องขุดทรายลึก ๆ แล้วนอนในหลุมทรายนั้น บางครั้งก็มีสุนัขมานอนด้วย เด็กชายนอนกอดสุนัขเป็นเพื่อน หลายปีหลังเขาบอกว่า “ถ้าผมไม่ได้หมา ผมก็ตายไปแล้ว หมามันก็รักผม กลางคืนหน้าหนาว กอดกับมันอุ่นกว่ากอดกับคนอีก”
สุรพลอายุ 8 ขวบเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติ คืนหนึ่งด้วยความเหนื่อยล้าเกินกว่าจะหาที่นอนที่อื่น เขาก็นอนในโลงศพในโกดังผีวัดพิชัยญาตินั่นเอง เขาหลับเป็นตายเพราะความเพลีย ตื่นขึ้นมาเมื่อแสงแดดแยงลงมา เขานึกว่าตกนรกเพราะเจ็บไปทั้งแผ่นหลัง เขาถูกฝูงมดแดงกัดตอนนอน
ยามแสงแดดส่องทะลุหลังคาสังกะสีเขาก็ได้คิด ในที่มืดมิดอย่างโกดังผี แสงสว่างยังสาดเข้ามา ชีวิตมืดได้ก็สว่างได้
ทุกเช้าสุรพลเห็นเหล่านักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนบ้านสมเด็จฯเดินไปโรงเรียน เด็กเหล่านั้นแต่งเครื่องแบบนักเรียนถือกระเป๋าดูโก้มาก เขาอยากเป็นเด็กนักเรียนอย่างนั้นบ้าง เขาอยากอ่านหนังสือออก แต่จะเข้าโรงเรียนได้อย่างไร ในเมื่อตัวเขาเองต้องหากินต่อชีวิตไปวัน ๆ เขาคงไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน
แล้วเขาก็เริ่มเรียนหนังสือด้วยตัวเองโดยวิธีของเขาเอง เขาถามเด็กนักเรียนที่ผ่านมาโดยชี้ที่ป้ายต่าง ๆ เช่น ป้าย “ถนนจักรเพชร” ถามนักเรียนว่า “ป้ายนี้อ่านว่าอะไร ?” เมื่อนักเรียนบอก เขาก็จดจำมันทั้งดุ้นว่า ตัวหนังสือหน้าตาอย่างนี้อ่านว่า ถนนจักรเพชร
สุรพลจดจำคำต่าง ๆ โดยไม่รู้จักพยัญชนะสักตัวเดียว คำศัพท์หน้าตาแบบนี้ออกเสียงว่า ช้าง คำหน้าตาอย่างนั้นออกเสียงว่า หนู ต่อมาก็เริ่มแยกแยะตัวพยัญชนะออก ตัว ก มีหน้าตาไม่มีหัวแบบนี้ ถ้าหัวอยู่ในคือ ถ ถ้าหัวหันออกคือ ภ จำไปทีละพยัญชนะ ทีละคำ เป็นตัว ๆ โดยไม่รู้วิธีประสมพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์
นักเรียนแถวนั้นเห็นสุรพลอยากเรียนจริง ๆ ก็ยกตำราแบบเรียนเร็วให้เขาอ่านไปทีละตัวราว 2 ปีกว่าก็เริ่มอ่านได้เขาอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า เก็บเศษหนังสือพิมพ์มาอ่าน อ่านป้ายร้านค้าต่าง ๆ และชอบถามคนเดินผ่านว่า “คำนี้อ่านว่าอะไร ?” แต่เขาต้องประหลาดใจที่พบว่า คนจำนวนมากรอบตัวเขาไม่รู้หนังสือ
วันหนึ่งสุรพลพบคนแก่คนหนึ่งนั่งอ่านหนังสือ ชายคนนั้นใช้แว่นขยายอ่านอย่างลำบาก สุรพลบอกคนแก่ว่า เขาจะรับจ้างอ่านหนังสือให้ฟังชั่วโมงละสตางค์เดียว โดยมีข้อแม้ว่า “ถ้าคำไหนผมไม่รู้ คุณลุงต้องช่วยสอนผมด้วย”
ชายแก่ตกลง ด้วยวิธีนี้เขาจึงได้อ่านหนังสือมากมาย เช่น รามเกียรติ์, พระอภัยมณี, มหาภารตยุทธ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ฯลฯ เขาทำงานทุกชนิดโดยไม่เกี่ยงงาน ในที่สุดก็ได้งานที่โรงละครย่านเวิ้งนาครเขษม กวาดโรงละคร ล้างห้องส้วมและฝึกฝนเขียนหนังสือจนแต่งเพลงได้
“ลาแล้วแก้วตา” คือเพลงแรกในชีวิต และฮิตอีกหลายเพลง สุรพลผ่านจุดต่ำสุดในชีวิตมาแล้ว ที่เหลือคือโบนัส
เป็นโบนัสที่เขาและเราจะจดจำไม่มีวันลืม