
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยก็มีความหวังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เรียกว่าเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมกับความหวังว่าการ “เลือกตั้ง” จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศและเศรษฐกิจไทย ที่นักลงทุนทั้งหลายมองว่าจะเป็นปัจจัยบวก
แต่เมื่อผลการเลือกตั้งของวันที่ 14 พ.ค. 2566 ออกมา ผ่านไปเกือบ 3 เดือนยังไม่มีความแน่นอนและความชัดเจนของหน้าตารัฐบาลใหม่
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเลื่อนแล้ว เลื่อนอีก
จากที่เคยมองว่าเป็นความหวัง เป็น “ปัจจัยบวก” ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น แต่วันนี้ดูเหมือนผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. กำลังทำให้ประเทศไทยติดกับดักเกมการเมือง
ที่เป็นเกมยืดเยื้อจนเข้าข่ายวิกฤตทำให้เศรษฐกิจของประเทศติดกับดัก
เพราะไม่เพียงแค่ราชการเกียร์ว่าง รอนโยบายรัฐบาลใหม่ เอกชนก็อยู่ในภาวะเกียร์ว่าง “wait & see” ทิศทางนโยบายของขั้วรัฐบาล ที่ยังพลิกไปพลิกมา
ทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนชะลอการลงทุน หรือปรับแผนชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพราะบรรยากาศไม่เอื้อ
ยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลลากยาวออกไป “ความไม่แน่นอน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งนักลงทุนและภาคธุรกิจไม่ชอบก็เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็ซบเซามาตั้งแต่หลังเลือกตั้ง โดยตั้งแต่ 15 พ.ค.-7 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนต่างชาติเป็นกลุ่มเดียวที่ขายสุทธิกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท
แม้ว่าภาพเศรษฐกิจระดับบนยังไม่สะดุด ศูนย์การค้าแบรนด์หรูยังมีลูกค้าคึกคัก การซื้อขายบ้านราคาหลายสิบล้านจนถึงหลักร้อยล้านยังไม่ได้รับผลกระทบ
แต่สำหรับเศรษฐกิจติดดินระดับรากหญ้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายย่อย สัมผัสได้ถึงกำลังซื้อซบเซาลงมาก แม้แต่ยอดค้าปลีกของ “โลตัส” รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ยังลดลงต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
สอดคล้องกับที่ นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของคาราบาวกรุ๊ป รวมทั้งธุรกิจค้าปลีก CJ Express ที่ยืนยันว่า ปัจจัยการเมืองการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความล่าช้าออกไปนั้น นำมาสู่ผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายทั่วประเทศลดลง สะท้อนจากบรรดาธุรกิจในต่างจังหวัดมีการประกาศ “เซ้ง” และ “ให้เช่า” กันมาก แม้ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากผลกระทบรุนแรงจากโควิด
ขณะที่ข้อมูลจาก ธปท.ก็พบว่า คนไทยจำนวนมากยังติดกับดักปัญหา “หนี้ครัวเรือน” แบบว่ารายได้ไม่พอรายจ่าย
ทำให้ปัจจุบัน “หนี้ครัวเรือน” ของไทยอยู่ในระดับสูงถึง 90.6% ของจีดีพี ขณะที่อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยก็เดินต้วมเตี้ยมมานานนับสิบปี ทำให้โอกาสที่ประชาชนจะหารายได้เพื่อจัดการกับภาระหนี้ก็เป็นเรื่องไม่ง่าย
“ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบี กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคที่มาพร้อมกับ “หนี้ครัวเรือน” เป็นการกู้มาเพื่อบริโภค ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยขึ้นมาอยู่ในจุด top ของโลก จนแบงก์ชาติต้องออกมาตรการมาดูแล
แถมการลงทุนของภาครัฐยังมุ่งลงทุนในโครงสร้างแบบเดิม ๆ งบฯ R&D ก็แค่ 1% ของจีดีพี ทำให้ธุรกิจไทยเติบโตแบบ low growth และ low margin เพราะขายทักษะและสินค้าแบบเดิม
นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่รอการปรับเปลี่ยน
ขณะที่ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาส แต่ก็ใช่ว่าเมื่อจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ จะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นปัญหาและวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายและความสามารถของรัฐบาลชุดใหม่
เช่นที่ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า หากได้รัฐบาลหน้าตาแบบเดิม ๆ นโยบายแบบเดิม ๆ เหมือนในอดีต เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลง และมีความเสี่ยงจะถูกเวียดนามแซงได้ภายใน 5 ปี
เพราะเศรษฐกิจไทยสิ้นสุดทางเลื่อนมานานแล้ว แม้ไม่หยุดนิ่ง แต่ก็ไม่ไปไหน วนอยู่ที่เดิม