5 ภารกิจซอฟต์พาวเวอร์

THACCA SPLASH
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : วรศักดิ์ ประยูรศุข

ผ่านไปแล้ว งาน THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024 ที่จัดขึ้น 3 วัน จาก 28-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เป็นงานซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย จากวันแรกที่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน กับ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร พร้อม ครม.ไปเปิดงาน พร้อมกับย้ำว่า จะผลักดัน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ไปสู่ระดับโลก

สอดคล้องกับเนื้อหาจากนิทรรศการ การเสวนาและการสื่อสารอื่น ๆ ในงาน

สำหรับชื่อ THACCA ที่ต่อไปนี้ น่าจะได้เห็นกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเอ่ยถึง Soft Power มาจาก Thailand Creative Culture Agency อันเป็นองค์กรที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อดูแล 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ

ประกอบด้วย 1) ด้านหนังสือ 2) ด้านเฟสติวัล (เทศกาล) 3) ด้านอาหาร 4) ด้านการท่องเที่ยว 5) ด้านดนตรี 6) ด้านเกม 7) ด้านกีฬา 8) ด้านศิลปะ 9) ด้านการออกแบบ 10) ด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ และ 11) ด้านแฟชั่น ซึ่งเมื่อมาเข้าระบบของการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ดูมีสีสันแง่มุมที่น่าสนใจมากขึ้น

หลายคนอาจจะได้สัมผัสแง่มุมที่ว่าบ้างแล้ว จากการไปเดินชมงาน ฟังการเสวนาต่าง ๆ หรือติดตามจากข่าวสาร

ADVERTISMENT

ในวันสุดท้ายของงาน คุณหมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานปิดงาน

คุณหมอเลี้ยบบอกว่า คณะทำงานได้ทำหน้าที่มา 9 เดือนเศษ นับจากนี้ ทุก ๆ อุตสาหกรรมจะดำเนินงานอย่างป็นรูปธรรม ไม่มีนามธรรมอีกต่อไป

ADVERTISMENT

จากการทำงาน 9 เดือนเศษ ขอสรุปเนื้อหาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ปฏิญญา 5 ประการ ดังนี้

ประการแรก ในยามที่ประเทศไทยลำบาก เศรษฐกิจเปราะบาง ซอฟต์พาวเวอร์คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ในการเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

ประการที่ 2 ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์จะต้องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทุกคนต้องได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ จะต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การฝึกฝนทักษะฝีมือระดับสูง หรือความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะระดับสูงครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีคน 20 ล้านคนที่จะได้รับประโยชน์นี้

ประการที่ 3 การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ จะต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการครั้งที่ใหญ่ที่สุด บางส่วนจะต้องรวมศูนย์ และบางส่วนจะต้องกระจายอำนาจ ด้านที่รวมศูนย์ จะต้องมีการรวมศูนย์การกำหนดยุทธศาสตร์ งบประมาณ ตั้งสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยออกเป็นพระราชบัญญัติให้เสร็จสิ้นในกลางปี 2568 ในด้านที่กระจายอำนาจ เรารู้ดีว่าเราจะต้องกระจายให้จังหวัดและท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน มีคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ระดับจังหวัดทุกจังหวัด

ประการที่ 4 การขับเคลื่อนต้องทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ภาครัฐจะทำหน้าที่สนับสนุน อำนวยความสะดวก ปรับปรุงกฎหมาย พัฒนาระบบนิเวศ จัดตั้งกองทุน จัดตั้งวันสต็อปเซอร์วิส เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ขับเคลื่อนสภาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ เช่น สภาภาพยนตร์ สภาดนตรี สภาศิลปะ สถาบันหนังสือแห่งชาติ สถาบันอาหาร สถาบันแฟชั่น เป็นต้น

ประการที่ 5 เราจะทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ที่จะมุ่งเน้นในการทำให้เสน่ห์ของคนไทยไปสู่ตลาดระดับโลกผ่านการทูตเชิงวัฒนธรรม ขับเคลื่อนโดยทูตที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับมิตรประเทศ เพื่อประสานการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในเวทีโลก

เป็นกรอบทิศทางที่ชัดเจน และเรียกได้ว่าเป็นงานใหญ่ระดับเรือธงอีกเรื่องของรัฐบาล

เข้าไปดูใกล้ ๆ ซอฟต์พาวเวอร์อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยอยู่แล้ว มวยไทย หนังละคร อาหารการกิน ก็รวมอยู่ในนี้

ถ้านำมาเพิ่มประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ พัฒนาให้เกิดคุณภาพมากขึ้นได้ จะเป็นพาวเวอร์ที่ไม่ธรรมดา