
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
โดยดำเนินการจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องราชสักการะ รวมทั้งประดับธงชาติไทย ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตราสัญลักษณ์ และประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่หน่วยงานและบ้านเรือนตามความเหมาะสม ตลอดปี 2567
สำหรับตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ประกอบด้วย อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ตรงกลาง อักษร ว ใช้สีขาวนวล สีแห่งวันจันทร์วันพระบรมราชสมภพ ตามคติมหาทักษา อักษร ป ใช้สีเหลือง วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และ อักษร ร ใช้สีฟ้า วันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อยู่บนรูปทรงของเพชร อันหมายถึง พระปรมาภิไธย “มหาวชิราลงกรณ” เพชรสีขาบ (น้ำเงินแก่) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์ ภายนอกกรอบของเพชร ประกอบด้วย แถบสีเขียว ซึ่งเป็นสีแห่งเดชวันพระบรมราชสมภพ ประดับด้วยเพชร 72 เม็ด หมายถึง พระชนมพรรษา 72 พรรษา
เบื้องบนประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ แสดงถึงทรงเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎ ประดิษฐานพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพแผ่กระจายไปไกลทั่วทุกหนแห่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ทั่วทั้งแผ่นดิน
ยอดจงกลฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์ ดอกจำปาทองห้อยระบายชั้นล่างนพปฎลมหาเศวตฉัตร 8 ดอก หมายถึง พระบารมีแผ่ไปทั่วทั้ง 8 ทิศ เลข 10 ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
เบื้องล่างปลายแถบแพร เบื้องขวามีรูปคชสีห์กายสีม่วงชมพูประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายทหาร เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดิน
เบื้องล่างประกอบด้วยลวดลายพญานาคกายสีเขียว อันแสดงถึงนักษัตรปีมะโรงอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ แพรแถบสีส้มขลิบทองซึ่งเป็นสีแห่งมูละของวันพระบรมราชสมภพ ภายในแพรแถบมีข้อความว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567”
ใต้อักษรพระปรมาภิไธย ประกอบด้วย ตัวเลข 72 หมายถึง พระชนมพรรษา ลวดลายเฟื่องอุบะและลวดลายดอกรวงผึ้ง ดอกไม้ประจำพระองค์มีสีทอง อันหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนและประเทศชาติ
มูลนิธิปิดทองหลังพระ รวบรวมพระกรณียกิจ ตลอด 33 ปี เผยแพร่ในโอกาสมหามงคล ภายใต้ชื่อ “หนึ่งพระทัย สู่หัวใจทุกดวง” ส่วนหนึ่งระบุว่า นับตั้งแต่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนถึงปัจจุบัน มี 155 โครงการ
โครงการอารยเกษตรสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มีโรงเรียนระยะ 3 เป้าหมาย 925 แห่ง
โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทานเพื่อรับมือสถานการณ์โรคโควิด 123 โรงพยาบาล 77 จังหวัด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินทั้งหมดที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายในการร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรายได้จากการจัดงาน อุ่นไอรัก คลายความหนาว “สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” รวมเป็นเงิน 2,407,144,487 บาท
สำหรับจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังคงขาดแคลนและมีความจำเป็นให้แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ วิทยาลัยพยาบาล และสถานพยาบาล ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวม 27 แห่ง
ในหลวงยังพระราชทานที่ดินให้กับสถาบันการศึกษา และหน่วยราชการ ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค นำไปใช้เป็นสถานที่ทำงานและใช้เพื่อประโยชน์ทางราชการ ในช่วงปี 2560-2561 จำนวน 4,854 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา
ทรงจัดตั้งทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในปีต่อมา ได้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ ม.ท.ศ.” โดยทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ เพื่อพระราชทานทุนการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ได้มีโอกาสศึกษาต่อเนื่องจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
จนถึงปี 2566 มีนักเรียนได้รับทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องแล้ว 15 รุ่นจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 1,411 ราย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ที่ส่งเสริมการทำงานจิตอาสา, มูลนิธิกาญจนบารมี ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2540 เพื่อป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง รวมทั้งให้ทุนการศึกษา วิจัย และมูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
พระราชพิธีมหามงคล 72 พรรษา จึงเป็นโอกาสของรัฐบาล พสกนิกร ที่จะได้ “ทำดี ด้วยหัวใจ” ถวายเป็นพระราชกุศล