คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สันติ จิรพรพนิต
ประเดประดังเข้ามา ชนิดเซแซด ๆ
ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ลุกลามหนักขึ้นเรื่อย ๆ การปิดโรงงานและกิจการต่าง ๆ ออกมาให้เห็นอยู่เนือง ๆ
ถือว่าเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่รับผลต่อเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจ และปัญหาโควิด-19 ที่ย่ำแย่มานานหลายปี
ที่น่ากังวลสุดตอนนี้ไม่พ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์
เพราะตัวเลขครึ่งแรกของ 2 ธุรกิจหลักนี้ ออกมาย่ำแย่สุด ๆ ในรอบนับ 10 ปี
ยิ่งกับตลาดรถยนต์บ้านเรา ทำยอดขายรวมกันแค่ 308,027 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ราว ๆ 24.16%
เมื่อเจาะแต่ละเซ็กเมนต์ พบว่าลดลงเกือบทั้งหมด
มีเพียงกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ที่ยังเติบโตกับยอดขาย 33,508 คัน เพิ่มขึ้น 6.91%
เช่นเดียวกับรถยนต์พลังงานไฮบริด ลูกผสมน้ำมัน+ไฟฟ้า ที่เติบโตสูงถึง 69.64% ด้วยยอดขาย 67,110 คัน
ส่วนหนึ่งมาจากความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า ที่เติบโตลดลงอย่างมีนัย
ผู้ใช้ส่วนหนึ่งมองว่าการใช้รถไฟฟ้ายังไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของตน แต่ยังต้องการความประหยัด จึงหันไปซื้อรถไฮบริดแทน
ที่น่าห่วงไม่พ้นรถเก๋งเครื่องยนต์สันดาปภายใน ยอดขายลดลงค่อนข้างเยอะ
แต่หนักกว่าคือปิกอัพ ที่ปกติเป็นเซ็กเมนต์ยอดขายสูงและเติบโตมานานหลายปี
แต่ 6 เดือนแรกขายได้ 89,581 คัน ลดลง 40.15%
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ถึงขนาดต้องปรับเป้าการผลิตรถยนต์ลงถึง 200,000 คัน
จาก 1,900,000 คัน เหลือ 1,700,000 คัน
ที่น่าตกใจคือเป็นการปรับลดเฉพาะที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ
จากเดิมตั้งเป้าปี 2567 ผลิตเพื่อขายในประเทศ 750,000 คัน ปรับลดเหลือเพียง 550,000 คัน
ผลที่ตามมาไม่พ้นภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่มีจำนวนมาก อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วน โชว์รูมรถยนต์ ฟิล์ม ฯลฯ กิจการพลอยหดตัว
โดยเฉพาะกลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ภาคตะวันออก
บางรายที่ไม่ไหวต้องปิดกิจการ หรือขอเข้ามาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ
เพื่อลดเวลาทำงาน หรือปิดกิจการชั่วคราว โดยจ่ายค่าจ้าง 75%
กลุ่มซับคอนแทร็กต์ที่รับช่วงการทำงานของบริษัทใหญ่ ๆ ในลักษณะสัญญาจ้าง ได้รับผลกระทบมากที่สุด
เรียกว่าภาคเอกชนพยายามซื้อเวลาให้ตัวเอง และพนักงานนานที่สุด
ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แต่ชัดเจนว่าถึงตอนนี้ยังไม่เพียงพอ
ยิ่งกับอุตสาหกรรมยานยนต์จากญี่ปุ่น ที่เป็นหนึ่งในเสาหลักของไทยมายาวนาน
เจอปัญหาทั้งหนี้ครัวเรือนระดับสูง การเข้มงวดรวมถึงปฏิเสธสินเชื่อของไฟแนนซ์
ที่สำคัญการเข้ามาตีตลาดอย่างรุนแรงของรถไฟฟ้าจีน
แม้ทางหนึ่งบริษัทรถยนต์จากจีน จะทุ่มเงินรวมกันราว ๆ 2 แสนล้านบาท ตั้งโรงงานในไทย
แต่ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ กว่าจะส่งผลในเชิงบวกกับภาพรวมเศรษฐกิจ
และยังไม่แน่ชัดว่าจะบวกได้มากน้อยขนาดไหน หากเทียบกับบริษัทรถยนต์ดั้งเดิม
เพราะฉะนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องเพิ่มการช่วยเหลือธุรกิจยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์
ส่วนจะออกมาตรการใด เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะได้ข้อมูลหรือข้อเสนอจากทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจมาแล้วประมาณหนึ่ง
อะไรที่ทำได้ก็เร่งทำ อะไรที่ต้องรอเป็นแผนขั้นต่อไป ก็ควรแสดงท่าทีสนับสนุนให้ชัดเจน
เพื่ออย่างน้อยเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ให้ภาคเอกชนที่กำลังกัดฟันสู้ และลูกจ้างที่กำลังดิ้นรน มีแรงฮึดขึ้นมาอีกสักนิด
ทำให้รู้สึกว่าหนทางข้างหน้า ไม่ได้มืดมนไปเสียทั้งหมด