
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง
บทเรียนของเครือข่ายการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม คือปล่อยให้พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 หลังคณะรัฐบาลต่อเนื่องจากคณะรัฐประหารครองอำนาจยาวนาน 9 ปี และจะปล่อยให้ชนะเลือกตั้งอีกครั้งในสมัยหน้าไม่ได้
ซ้ำรอยประวัติศาสตร์หลังรัฐประหารทั้งยุค 2549 และ 2557 พรรคของทักษิณชนะเลือกตั้ง 3 สมัยต่อเนื่อง ทั้งในปี 2551 และ 2554 และการเลือกตั้ง 2562 แต่ต้องเสียแชมป์ครั้งแรกในรอบ 20 ปีให้กับพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้ง 2566
แต่กระนั้นพรรคเพื่อไทยก็ยังพลิกขั้วขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขับเคลื่อนการเมืองของพรรคก้าวไกลทั้งใน-นอกรัฐสภา นั้นแหลมคมและสะสมชัยชนะไว้ในหลายส่วน ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น…สักวันก้าวไกลอาจพลิกขึ้นเป็นขั้วรัฐบาล
เมื่อเครือข่ายฝ่ายอนุรักษนิยมสนธิกำลังกับขั้วการเมืองใหญ่ การยุบก้าวไกลจึงมีดีกรีเข้มข้น
ไม่ควรลืมว่า ก่อนจะมาถึงคิวของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล พรรคทักษิณเคยถูกยุบมาแล้ว 3 พรรค ทั้งไทยรักไทย-พลังประชาชน และไทยรักษาชาติ
มีพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 200 พรรค ล้วนเคยผ่านการถูกยุบ ภายใต้ 5 คำสั่งคือ 1.คำสั่งของคณะรัฐประหาร 2.ประกาศของคณะปฏิวัติ 3.คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 4.คำสั่งของศาลฎีกา 5.คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
ในช่วง 15 ปีแห่งวิกฤตการเมือง ตั้งแต่ 2548-2563 มีการยุบพรรคการเมืองด้วย “คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ” 6 พรรคคือ ไทยรักไทย, พลังประชาชน, ชาติไทย, มัชฌิมาธิปไตย,ไทยรักษาชาติ และอนาคตใหม่
ย้อนไปในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการเปิดให้มีการจดทะเบียนพรรคการเมือง โดยมีพรรคประชาธิปัตย์แจ้งเกิด โดยนายควง อภัยวงศ์
การยุบพรรคเกิดขึ้นครั้งแรกในการรัฐประหาร 1 เมษายน 2476 โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) สั่งยุบ 1 พรรคคือ พรรคสมาคมคณะราษฎร
รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งยุบ 10 พรรคการเมือง
รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ สั่งยุบเลิก 28 พรรคการเมือง
เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2511 เปิดจดทะเบียน 17 พรรค แต่อยู่ได้เพียง 4 ปี เมื่อจอมพลถนอมรัฐประหารตัวเอง รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ “ประกาศของคณะปฏิวัติ” สั่งยุบ 17 พรรคการเมือง
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี มีการจดทะเบียนพรรคการเมือง 54 พรรค แต่การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 โดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำให้ทั้ง 54 พรรคถูกยุบทั้งหมด โดย “คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”
หลังรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 มีการประกาศใช้ในช่วง 2524-2539 เข้าสู่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีพรรคใหม่ 49 พรรค ในยุคนี้บทบาทการยุบพรรคการเมือง เปลี่ยนไปอยู่ในอำนาจของ “ศาลฎีกา” และในการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 มีคำสั่งให้พรรคการเมือง “ยุติบทบาท” 20 พรรคการเมือง
รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีพรรคร่วมจดทะเบียนถึง 74 พรรค และในปี 2541 นั้นเอง พรรคไทยรักไทย ได้ถือกำเนิดขึ้น และอำนาจการ “ยุบพรรค” อยู่ในเขตอำนาจ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
และในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คำสั่งของ คมช. สั่งให้พรรคการเมือง 36 พรรคยุติกิจกรรมทางการเมือง
ต่อเนื่องกับการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคำสั่ง คสช. ให้พรรคการเมือง 40 พรรคยุติบทบาทและกิจกรรมทางการเมือง
แม้ว่าที่ผ่านมาการยุบพรรคจะเกิดขึ้นแล้วกว่า 200 พรรค แต่เอฟเฟ็กต์การยุบพรรคครั้งใหม่จะก้าวไกลไม่เหมือนเดิม