
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
ก็เกิดคำถามมากมายถึงอนาคตของโครงการ “ดิจิทัลวอลเลต” ว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ อย่างไร
แม้ว่าจะเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและวิบากกรรมและความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้า
น่าจะทำให้รัฐบาลใหม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ และปิดฉากโครงการดิจิทัลวอลเลตไปโดยปริยาย
เพราะช่วง 358 วันของรัฐบาลเศรษฐา ก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนให้โครงการดิจิทัลวอลเลตคลอดออกมาได้
แม้ว่าจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนไปแล้ว แต่หลายเรื่องยังไม่มีความชัดเจน และเป็นประเด็นความเสี่ยงสำคัญคือ เรื่องระบบชำระเงิน (แพลตฟอร์มเพย์เมนต์) ที่รัฐบาลเลือกที่จะพัฒนาระบบใหม่ขึ้นมา แทนที่จะใช้ช่องทาง “เป๋าตัง” แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าระบบเพย์เมนต์ใหม่จะรองรับการใช้บริการได้หรือไม่ และรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่เคยชี้แจง
ที่ผ่านมามีแต่เสียงจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เตือนถึงความเสี่ยงของแพลตฟอร์มเพย์เมนต์ ที่เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ และขีดเส้นว่า ต้องแจ้งให้ ธปท.ทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนเริ่มให้บริการ เพื่อสอบทานผลการประเมินความเสี่ยง เพราะการเชื่อมต่อระบบกับโมบายแบงกิ้ง เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบไอทีอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเสี่ยงกระทบลูกค้าและการให้บริการเป็นวงกว้างได้
แม้ว่าที่ผ่านมา DGA หรือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่รับผิดชอบการพัฒนาระบบเพย์เมนต์ ไม่มีคำชี้แจงใด ๆ แต่วงในยืนยันว่ามีชื่อของ TechX ในเครือ SCBX เข้าไปช่วยให้คำปรึกษาจัดทำทีโออาร์ แต่ไม่กี่วันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินอดีตนายกฯเศรษฐา ก็มีรายงานข่าวว่าทาง SCBX ขอถอนตัวไม่ร่วมพัฒนาระบบชำระเงินดิจิทัลวอลเลตแล้ว
ส่วนอนาคตของโครงการดิจิทัลวอลเลต หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ลองมาอ่านสัญญาณจากผู้เกี่ยวข้องกัน
เริ่มจาก “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ซึ่งหลังจากที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคร่วมรัฐบาลให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31
ว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็ได้ตอบคำถามถึงประเด็นดิจิทัลวอลเลตว่า “ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อน” เรียกว่า ถอยตั้งหลักใหม่คงไม่ผิด
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ตอบว่า “เป็นเรื่องรัฐบาลชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็ม จะหยุดก็ได้ จะเปลี่ยนแปลงก็ได้ จะเดินต่อก็ได้ เพราะเป็นคนละรัฐบาลกัน รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นรัฐบาลชุดที่ 63 รัฐบาลชุดใหม่ เป็นชุดที่ 64 และต้องแถลงนโยบายใหม่ต่อรัฐสภา ซึ่งต้องดูว่ามีการพูดถึงเรื่องนี้หรือไม่”
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า โครงการดิจิทัลวอลเลตอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลรักษาการ แต่ถ้าดู พ.ร.บ.งบประมาณฯเพิ่มเติมปี 2567 ที่ผ่านสภามาแล้วก็ต้องเดินไปตามกระบวนการ แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลรักษาการ
ส่วนจะสามารถโอนเงินไปใช้โครงการอื่นแทนนั้น นายเฉลิมพลชี้แจงว่า จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการใช้จ่ายเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย พร้อมย้ำว่า หากจะดำเนินการต่อก็ต้องใช้งบฯก่อน 30 ก.ย.นี้
ด้าน นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกา กล่าวสั้น ๆ ว่า ตามหลักการเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ควรหยุดโครงการดังกล่าว
จากสัญญาณที่ออกมา น่าจะเรียกว่า “ปิดฉากดิจิทัลวอลเลต” แต่ก็คงมีการแปลงร่างเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการใหม่ เพื่อให้ปิดประตูความเสี่ยงข้อกฎหมายต่าง ๆ มากขึ้น
เพราะกูรูหลายท่านก็มีมุมมอง การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีนายกฯเศรษฐา ออกมารูปแบบนี้ก็ทำให้การดำเนินนโยบายและโครงการต่าง ๆ ของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” คงต้องมีความรัดกุมมากขึ้น
ต้องจับตาดูกันต่อว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” จะมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ ทุกคนฟันธงว่า หนักและเหนื่อยแน่นอน