คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง
คณะรัฐมนตรี คณะที่ 64 น่าจะเป็นคณะแรก ที่การตรวจสอบคุณสมบัติเข้มข้นที่สุด เท่าที่เคยมีมา
อาจารย์วิษณุ เครืองาม เนติบริกรระดับพระยาพานทอง ผู้คร่ำหวอดกับการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี ตามหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (เลขาฯ ครม.) มายาวนานกว่า 10 ปี ต่อเนื่องด้วยการเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกกว่า 20 ปี ถึงกับเคยออกปากมาแล้วว่า
“งานที่ยากที่สุดงานหนึ่งของสำนักเลขาฯ ครม. คือ การตรวจคุณสมบัติรัฐมนตรี” อาจารย์เล่าด้วยว่า เคยตรวจคุณสมบัติลูกท่านเจ้าคุณ กับคุณหญิง คนหนึ่งซึ่งเป็นนักธุรกิจแล้วเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ไม่คาดคิดว่าจะ “ขาดคุณสมบัติ” แต่จนแล้วจนรอดก็ค้นจนพบว่า ขาดคุณสมบัติข้อสำคัญเลยคือ “สัญชาติไทย”
แต่ด้วยการแก้ปัญหาที่ใช้ขั้นตอนทางกฎหมาย และจังหวะลอดช่องที่พอทำได้ไม่ผิดกติกา ทำให้คนนั้นได้เป็นรัฐมนตรีได้ชั่วขณะหนึ่ง
แต่แน่นอนว่า ในการตรวจคุณสมบัติรอบนี้ ต้องมีความเข้มข้นขึ้น 2 เท่า จึงต้องอาศัยมือระดับ “พญาครุฑ” ทางกฎหมาย-นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ถือเป็นตัวพ่อแห่งวงการรัฐธรรมนูญ และกฎหมายมหาชน
นายวิษณุ เครืองาม ไม่เพียงเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยังดำรงสถานะเป็น “คณะกรรมการกฤษฎีกา” อีกด้วย
การตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี จึงถูกเลาะตะเข็บเก็บกวาดตั้งแต่ระดับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ที่ระบุขั้นตอนใหม่ไว้ว่า นอกจากสำนักเลขาฯ ครม.ตรวจขั้นต้นแล้ว
“ส่งคุณสมบัติรัฐมนตรีให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะใหญ่ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึง นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ร่วมคณะอยู่ด้วย เพื่อช่วยพิจารณา”
จากปกติการตรวจคุณสมบัติใช้เวลาอย่างเร็ว 3 วัน เพิ่มเป็น 7 วัน และต่อเวลาจนถึง 15 วัน
การตรวจคุณสมบัติรัฐมนตรี ครั้งนี้นับเป็นการเช็กลิสต์ ที่อยู่ใน-นอกรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม
จากขั้นตอนปกติ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน (มาตรา 158 วรรคแรก) ดังนี้ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 160 กล่าวคือ
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 โดยในส่วนนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคสอง ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 (12) (13)
(14) และ (15) มาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่ไม่ควรจะต้องมีเหตุมัวหมองและไม่เหมาะสมในการบริหารราชการแผ่นดิน
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
“จะต้องไม่เป็นข้าราชการและพนักงานของรัฐที่มีเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมืองอื่น ๆ”
สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ต้องไม่เป็นบุคคลห้ามเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น, เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี, พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ปัจจัยชี้ขาดของการอยู่-การไปของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องผลงานหรือการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่หัวใจสำคัญ คือการ มี-หรือขาด คุณสมบัติต่างหาก