หมื่นบาทดิจิทัล เพื่อผู้ประสบภัย

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

ในวิกฤตมีกำลังใจ ขอส่งกำลังใจถึงผู้ประสบอุทกภัยทุกท่าน #SAVE ผู้ประสบอุทกภัย

มีเหตุได้ยกหูคุยกับผู้บริหารระดับโปรเฟสชั่นนอล ที่ถือเป็น Think Tank ระดับแถวหน้าของไทยอีกคนหนึ่ง “พี่เล็ก-ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมคอนโดฯ หัวข้อพูดคุยแตะไปถึงการเยียวยาเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง

มีข้อเสนอแนะออกมาว่า ต่อจิ๊กซอว์ให้ดี เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงรายในรอบ 80 ปี กับรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เตรียมแจกเงิน 10,000 บาทดิจิทัลก้อนแรก ก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้ วางเป้าแจกลอตแรกให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ 14.5 ล้านราย

ไหน ๆ ก็ไหน ๆ เพื่อให้ 10,000 บาทมีประโยชน์สูงสุด นายกฯอิ๊งค์น่าจะพิจารณาแจกเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้ได้รับสิทธิ และเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมรอบนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอเฟสที่สองที่สามแต่อย่างใด

จะเรียกว่าเป็นโควตา 10,000 บาทดิจิทัล เวอร์ชั่นผู้ประสบอุทกภัยก็ได้ แจกทันทีเพื่อให้ผู้ประสบภัยใช้สอยในยามที่ยากลำบากแบบไม่ทันตั้งตัว และเป็นทุนสำหรับหารายได้ก้อนใหม่

หัวข้อชวนคุยเลยเถิดไปถึงความลำบากของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นชนบททั่วไทย คำว่าจีดีพีประเทศเป็นตัวชี้วัดสำคัญอีกตัวหนึ่ง

ADVERTISMENT

อยากให้คนมีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จีดีพีต้อง 3-4% ขึ้นไป ปัญหาคือไทยอยู่กับจีดีพี 1-2% กว่ามาพักใหญ่

คนไทยก็เลยไม่มีรายได้ เพราะการเติบโตจีดีพีไม่มากพอ คนจนยิ่งจนกระจุกมากขึ้น ยิ่งเจอภัยธรรมชาติคนจนยิ่งลำบาก คนที่มีทุนค้าขายเดิมก็หมดไป การท่องเที่ยวก็ต้องหยุดต้องชะงักไปสักพัก

ADVERTISMENT

และแล้วก็มีการหล่นประเด็น ถ้า…อย่างโน้น ถ้า…อย่างนี้ ขึ้นมา

มาตรการเยียวยาหลังน้ำลด ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกระทรวงคลังกับแบงก์ชาติ ซี่งอยากเห็นผู้บริหารแบงก์ชาติต้องลงพื้นที่ไปคลุกปัญหาน้ำท่วมบ้าง และอยากให้มีนโยบายการเงินเข้าไปสนับสนุน

ข้อเสนอแนะแบบ Think Big แบงก์ชาติควรจะปรับโครงสร้างได้แล้ว บทบาทไม่ได้จำกัดเป็นฝ่ายกำกับ แต่ควรจะต้องเข้าสู่โหมดทำเป็น Customer Oriented หมายถึงมีการทำงานที่รวดเร็ว เป็นมืออาชีพ และนึกถึงลูกค้าก่อนเสมอ

ในที่นี้อยากเห็นแบงก์ชาตินึกถึงพี่น้องประชาชนในชนบท รู้จักรู้จริงวิถีชีวิตทุกตารางนิ้ว

วิธีการก็เริ่มต้นเพิ่มโครงสร้างผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้ว่าการอีกสัก 2 สายงาน คร่าว ๆ เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการกลุ่มอาชีพอิสระ กับผู้ช่วยผู้ว่าการกลุ่มเปราะบาง

“…พูดกลาง ๆ แบงก์ชาติควรจะปรับโครงสร้างเพื่อให้เข้าใจชาวบ้านมากขึ้น มากกว่ารู้ตัวเลขเยอะแยะไปหมด แต่วันนี้โลกเปลี่ยน แบงก์ชาติควรจะได้ไปเข้าใจประชาชนคนไทยแต่ละกลุ่ม ตามฐานะ หรือตามความเปราะบาง กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มคนยากจน ไวต์คอลลาร์ บลูคอลลาร์ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง”

มองในมุมนี้ สิ่งที่เป็นโจทย์ยากคือลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมักมีคำพูดเมืองไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่อยากเห็นแบงก์ชาติควรจะเริ่มเปลี่ยนแปลงก่อน

ขอย้ำว่าเป็นการสนทนาแบบ ถ้า…อย่างโน้น ถ้า…อย่างนี้ค่ะ

ในฐานะสื่อสายอสังหาริมทรัพย์ ได้เห็นการประกาศนโยบายของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนใหม่ “ลอเรนซ์ หว่อง” ท่านมีนโยบายหลายข้อ แต่ที่เห็นแล้วเก็บมาฝันหวานอยากให้เกิดในไทย เป็นเรื่องสนับสนุนเงินค่าซื้อบ้าน มีเงื่อนไขถ้าลูกชาย ลูกสาวซื้อบ้านใกล้พ่อแม่

มองในมุมแมเนจเมนต์รัฐบาลได้ประโยชน์ลองเทอม เพราะลูกอยู่ใกล้พ่อแม่จะมีการดูแลใกล้ชิด ลดภาระรัฐบาล มองในเชิงสังคม มีลูกเด็กก็ได้คุณย่าคุณยายช่วยเลี้ยง ยามแก่เฒ่าก็ได้ลูกหลานแวะเวียนไปมาหาสู่

และไม่ว่ามองในมุมไหน คนไทยทุกคนควรได้รับโอกาสเข้าถึงการมีบ้านเป็นของตนเอง เพราะกฎพื้นฐานที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต