ร้อนไปด้วยกันหมด

environment
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : วรศักดิ์ ประยูรศุข

ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่เรื่องเฉพาะของใครอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจ และร่วมไม้ร่วมมือกันแก้ไข

บ้านเราเพิ่งเจอน้ำท่วมในภาคเหนือ อีสาน และใต้ และยังไม่จบ เพราะปลายเดือน ก.ย. ยังมีพายุโซนร้อนมาเยือนอีก เป็นภัยธรรมชาติที่มีประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมอยู่ด้วย

รัฐบาลเองกังวลกับปัญหานี้อยู่มาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เตือนเรื่องนี้เอาไว้หลายวาระและโอกาส รวมถึงเมื่อครั้งมาพูดหัวข้อ “Time for Action พลิกวิกฤตโลกเดือด” ในการสัมมนาประชาชาติเมื่อเดือน ส.ค.

รองฯพิชัยบอกว่า ในการประชุม COP 26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 อันเป็นรอบล่าสุด มีความตกลงร่วมกันออกมา ไทยรับโจทย์มาว่า ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) หรืออีก 6 ปีจากนี้

โจทย์ต่อไปคือในอีก 20 ปีข้างหน้า ต้องเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และอีก 15 ปี ต้องไปสู่ Net Zero ในปี 2065 (พ.ศ. 2608)

รองฯพิชัยย้ำว่า ถ้าไม่ทำตามโจทย์นี้ ภาคการผลิตจะมีปัญหา ส่งออกไม่ได้ ถ้าลดคาร์บอนไม่ได้ตามเป้า ก็ต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตมาจากประเทศอื่นเพื่อให้ส่งออกได้ แต่ต้นทุนจะสูง ธุรกิจไม่รอด ภาคการลงทุนจะหาย เพราะลงทุนไปก็ขายสินค้าไม่ได้ นักลงทุนต่างประเทศอาจระงับลงทุนไทย

Advertisment

ส่วนในไทย การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คร่าว ๆ ในช่วง 3 ปี 2566-2568 คาดไว้ 2 ล้านล้านบาท แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนต้องการ คือ พลังงานสีเขียว

ตอนนี้ไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 370 ล้านตัน/ปี จะลด 30% ใน 6 ปีข้างหน้า คือ 120 ล้านตัน/ปี แต่ช่วงที่ผ่านมาเป็นสิบปี ตัวเลขยังอยู่ที่ 370 ล้านตัน/ปี เหมือนเดิม

Advertisment

ทางแก้อย่างหนึ่ง คือ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการกักเก็บคาร์บอนเครดิตให้ได้มาก ๆ เช่น ปรับวิธีปลูกข้าว แก้ปัญหาขยะ ฯลฯ และผลักดันให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้มีแล้วที่สิงคโปร์

อีกหน่วยงานที่จริงจังกับเรื่องนี้มาก คือ ปตท. ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ซีอีโอของ ปตท. กล่าวบนเวทีประชาชาติในครั้งนั้นว่า ปตท. มุ่งหน้าสู่ Net Zero ด้วยหลัก 3 C

ประกอบด้วย C แรก Climate Resilience Business ทำธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับพอร์ตธุรกิจทุกบริษัทในกลุ่ม เลือกไปทำผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่อตันน้อยลง

C 2 คือ Carbon Conscious Business ธุรกิจที่ทำอยู่แล้วต้องลดคาร์บอนโดยเอาพลังงานที่สะอาดขึ้นมาใช้ นำเทคโนโลยีมาใช้ และ C 3 คือ Coalition-Cocreation and Collective Efforts for All ปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ก็ต้องเก็บให้ได้เท่านั้น คือการทำ Carbon Capture เริ่มทำแล้วในอ่าวไทย และนำเอาเชื้อเพลิงที่ไม่มีคาร์บอนมาใช้ คือ ไฮโดรเจน สำหรับภาคอุตสาหกรรม โมเลกุลไฮโดรเจนไม่มีคาร์บอน สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

นั่นคือแนวคิดและนโยบายจากผู้เกี่ยวข้อง ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับ Climate Change ก็จะออกมาบังคับใช้ ต้องติดตามดูผลกันต่อไป

ขณะที่หลายประเทศในโลกขยับไปพอสมควร น่าจะนำมาใช้เป็นแนวทางได้ อาทิ ญี่ปุ่น ซึ่งคณะของ ปตท. ไปศึกษากระบวนการปรับการผลิตพลังงานเพื่อไปสู่เน็ตซีโร่ที่เป็นขั้นเป็นตอน

อย่างที่ จังหวัดยามานาชิ เริ่มจากไฟฟ้าพลังน้ำในปี 2500 มาเป็น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์โคเมคูรายามะ ในปี 2554, จากนั้น เปิดศูนย์วิจัยการนำผลิตกรีนไฮโดรเจนจากพลังงานแสงอาทิตย์ จนบัดนี้ ยามานาชิกำหนดให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนเป็นนโยบายจังหวัดแล้ว

รวมถึงการใช้ความร้อนจากการเผาขยะไปผลิตไฟฟ้า ที่โรงเผาขยะเมกุโระ กลางกรุงโตเกียว ที่มีระบบป้องกันกลิ่น เสียงที่เข้มงวด การออกแบบอาคารไม่รบกวนความรู้สึกของคนในพื้นที่ ปล่องปล่อยควันสูงลิ่ว 150 เมตร อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไร้ปัญหา และอีกแห่งคือ โรงเผาขยะซูรูมิ ที่ โยโกฮามา ของบริษัทมิตซูบิชิเฮฟวี่อินดัสทรี ที่้โยโกฮามา ที่นอกจากนำขยะมาเผาเอาความร้อนไปผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังดักจับคาร์บอนจากการเผาขยะ นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปอีก

โลกร้อนเป็นเรื่องนานาชาติที่ต้องร้อนไปด้วยกัน ร่วมมือกัน และศึกษาจากกันและกัน