คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง
วันที่ 24 พฤศจิกายนปีหน้าจะครบ 100 ปี วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 6
ในยุค “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” มีเสนาอำมาตย์ที่ปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณ อย่างโดดเด่น
1 ในมหาอำมาตย์ ที่ไว้วางพระราชหฤทัยคือ “เจ้าพระยารามราฆพ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงลงลายพระราชหัตถ์ไว้ในพระราชบันทึกส่วนพระองค์ว่า “เป็นศุภมิตร”
เจ้าพระยารามราฆพ-เป็นทั้งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก สมุหราชองครักษ์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้บรรดาศักดิ์ และดำรงตำแหน่งถึง 23 ตำแหน่ง
พระราชนิพนธ์ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “ตำแหน่งหน้าที่และบรรดาศักดิ์ ได้เป็นถึง 23 ตำแหน่ง แต่ใน 11 ตำแหน่งไม่ต้องมีความรับผิดชอบอันใด นอกจากไปนั่งประชุมเพื่อฟัง มาเรียนพระราชปฏิบัติเป็นบางครั้งบางคราว เป็นนายทหารพิเศษถึงนายพล เพื่อแต่งยูนิฟอร์มตามหน้าที่สมุหราชองครักษ์”
ตำแหน่งราชเลขานุการพิเศษ, ราชองครักษ์พิเศษ, ผู้กำกับราชการกรมเรือยนตร์หลวง, เป็นอุปนายกเสือป่า, อุปนายกผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระ, กรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน นอกจากนั้นยังเป็นกรรมการที่ปรึกษา 7 แห่ง อาทิ
กรรมการที่ปรึกษาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, ที่ปรึกษาสภากาชาดแห่งสยาม, ที่ปรึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยสภานายกราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม, สภานายกและกรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม, เป็นสภานายกราชตฤณมัยสมาคมแห่งกรุงสยาม, ราชเลขานุการส่วนพระองค์
“มีแต่ตำแหน่งประจำคือ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กและผู้ช่วยราชการกระทรวงวัง สองหน้าที่นี้ที่เจ้าพระยารามฯ จะต้องรับผิดชอบเต็มที่ ในฐานะอย่างคนสามัญเรียกว่า ‘พ่อบ้านแม่เรือน’ ฉะนั้น สิ่งไรเกี่ยวแก่ราชสำนัก เจ้าพระยารามฯ จะต้องรับผิดและชอบด้วยเป็นธรรมดาอยู่เอง”
เมื่ออายุได้ 22 ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ จากนั้นได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าพระยารามราฆพ ชั้นสุพรรณบัฏ อันเป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ ขั้นสูงสุดทางราชการ ขณะที่มีอายุเพียง 31 ปี
คำประกาศเลื่อนเกียรติยศ จากพระยาประสิทธิ์ศุภการ ขึ้นเป็นเจ้าพระยารามราฆพ ตอนหนึ่งระบุว่า
“เป็นผู้จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมั่นคงยิ่งนัก…ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาช้านาน มีปรีชาญาณหยั่งทราบในกระแสร์พระบรมราโชบาย ตั้งใจสนองพระเดชพระคุณด้วยความอุตสาหะวิริยภาพอันแรงกล้า
และเป็นผู้มีความประพฤติดำรงตนอยู่ในฐานะอันควรแก่ฐานันดรศักดิ์ที่ทรงพระกรุณาชุบเกล้าฯ แต่งตั้งไว้…นับว่าเป็นผู้เชิดชูเกียรติยศแห่งข้าหลวงเดิมทั้งปวง สมควรที่จะได้รับอิสริยยศบรรดาศักดิ์สูง สมแก่ตำแหน่งราชการ ซึ่งได้บังคับบัญชาต่างพระเนตร์พระกรรณ์ให้ปรากฏสืบไป”
ม.จ.พูนพิศมัย ยังบันทึกไว้ด้วยว่า “…เจ้าพระยารามฯ เป็นพระเนตร์พระกรรณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การที่ได้เป็นพระเนตร์พระกรรณ์นี่แหละ คือได้กำอำนาจไว้ทั้งหมด เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นสุภาพบุรุษของอังกฤษ ซึ่งโดยมากยอมรักษาระเบียบ Reserve และกระดาก Shy ในการที่จะขยายตัวเองในการสมาคม Break Society จึงต้องมีคนที่เป็นพระเนตร์และพระกรรณ์”
เจ้าพระยารามฯ ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จำนวนมาก เมื่อครั้งอายุครบ 24 ปี ได้รับพระราชทาน “คฤหาสน์นรสิงห์” ซึ่งปัจจุบันคือตึกไทยคู่ฟ้าและหมู่ตึกบริวารในทำเนียบรัฐบาล
เมื่อเปลี่ยนรัชสมัย สู่รัชกาลที่ 7 เจ้าพระยารามฯ ไปใช้ชีวิตในยุโรปกับครอบครัว กลับมาเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกเชิญให้ดำรงตำแหน่งประธานหรือกรรมการในบริษัทเอกชน
ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารามราฆพ ดำรงตำแหน่งสมุหพระราชวัง และประธานกรรมการพระราชวัง ได้รับการแต่งตั้งเป็น “นายกเทศมนตรีเทศบาลกรุงเทพฯ” เป็นคนแรก
และยังคงมากตำแหน่งจนกระทั่งวาระสุดท้าย ในปี 2510 คือเป็นสภานายก สภาลูกเสือแห่งชาติ, สมุหพระราชวัง, ประธานกรรมการพระราชวัง และอุปนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย