คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม
วันนี้ขอโหนกระแสว่าด้วยการแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
คงไม่ไปแตะเรื่องตัวบุคคล เรื่องหลักการหรือหลักกูอะไรทั้งนั้น จะชวนคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และผลลัพธ์ที่ตามมา
สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่เรียกว่าบอร์ด กนง. หน่วยงานเล็ก ๆ ในสังกัดแบงก์ชาติ คณะกรรมการมีจำนวนเท่ากับพิซซ่าไม่เกิน 1 ถาด จำนวน 7 ท่าน ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา อนุมัติด้วยคะแนน 5 : 2 ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25%
วงการคนทำธุรกิจขานรับทั้งแผ่นดินก็ว่าได้ เห็นบอกว่าเป็นการลดดอกเบี้ยในรอบ 4 ปี ถึงแม้จะเป็นการลดเพียง 0.25% หรือลดดอกเบี้ยเพียง 1 สลึง
ขณะเดียวกัน นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในช่วง 10-20 ปี ต้องให้เครดิตรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 อนุมัติแพ็กเกจกระตุ้นครั้งใหญ่ ให้สิทธิประโยชน์แบบเต็มแมกซ์ จนเพื่อนต่างวงการ อาทิ วงการรถยนต์ค้อนแล้วค้อนอีก
สาระสำคัญ ยกเว้นค่าโอน-จดจำนอง จาก 3% เหลือ 0.01% ภาระค่าใช้จ่ายล้านละ 3 หมื่นลดเหลือล้านละ 300 บาท อีกเรื่องคือขยายเพดานการซื้อ จาก 3 ล้านบาทขยับให้ถึง 7 ล้านบาท
ไม่น่าเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์ หรือผ่านการซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสินค้าปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต ให้เต็มแมกซ์ขนาดนี้ก็ยังแป้ก
คำอธิบายมาเฉลยว่า มาตรการของรัฐบาลเป็นมาตรการด้านการคลัง ยังขาดอีกขาที่เป็นนโยบายปาท่องโก๋ ต้องมาควบคู่กันก็คือมาตรการด้านการเงิน จากฝั่งผู้กำกับหลักคือแบงก์ชาติ
หลังจากที่ กนง.ลดดอกเบี้ย 1 สลึงในรอบ 4 ปี ได้ยกหูคุยกับ 2 ผู้บริหารวงการบ้านและคอนโดมิเนียม เริ่มจาก “สุนทร สถาพร” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุชัดเจนว่า ผลบวกเกิดขึ้นทันทีกับผู้ซื้อบ้าน ผู้ที่กำลังผ่อนบ้าน ประหยัดค่างวดผ่อนทันทีล้านละ 2,000 กว่าบาท
พร้อมกับคำนวณให้เสร็จสรรพ สินเชื่อ 1 ล้านบาท มีภาระผ่อนค่างวดเดือนละ 6,000 บาท หรือดอกเบี้ยเฉลี่ย 6% หากดอกเบี้ย 1% เท่ากับ 1,000 บาท การลดดอกเบี้ยลง 0.25% หรือ 1 สลึง จะเท่ากับ 208 บาท/เดือน เท่ากับ 1 ปีประหยัดค่าผ่อน 2,500 บาท/ปี (คูณ 12 เดือน)
ถ้าราคาบ้าน 5 ล้านบาท ลดดอกเบี้ย 1 สลึง จะประหยัดค่างวด 12,500 บาท/ปี บ้าน 7 ล้าน (ตามมาตรการรัฐ) ประหยัดค่างวด 17,500 บาท/ปี
ในฝั่งผู้ประกอบการ ซึ่งมีการใช้สินเชื่อโครงการหรือสินเชื่อพรีไฟแนนซ์ สมมุติ โครงการที่ต้องลงทุน 1,000 ล้านบาท ถ้าแบงก์ปล่อยกู้แค่ 50% หรือ 500 ล้านบาท ใช้วิธีคำนวณเหมือนกัน ลดดอกเบี้ย 1 สลึง ประหยัดได้ล้านละ 208 บาท
โอ้โห เงินกู้ 500 ล้านบาท ลดดอกเบี้ย 1 สลึง ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนค่าดอกเบี้ยทันที 104,000 บาท/เดือน และ 1,248,000 บาท/ปี
การคำนวณแบบนี้บอกเราว่า ลดดอกเบี้ย 1 สลึง ไม่ใช่แค่ลดดอกเบี้ย 1 สลึง แต่คือการลดดอกเบี้ยตั้ง 1 สลึง
ถัดมา “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทย แจมมุมมองว่า ปกติดอกเบี้ยกับค่าเงินเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีมาก ทางตรงเลยการลดดอกเบี้ยก็เท่ากับลดภาระต้นทุนผู้ซื้อและผู้ประกอบการ เชื่อว่ามติ กนง.วันที่ 16 ตุลาคมของคณะกรรมเสียงข้างมาก 5 คน เพื่อช่วยลดภาระให้กำลังซื้อกลุ่มเปราะบางโดยตรง
ทั้งนี้ มักมีคำอธิบายจากวงการอสังหาฯ ดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 1% มีผลต่องวดผ่อนทันที 8% ดังนั้น การลดดอกเบี้ย 1 สลึงจะมีผลต่องวดผ่อน 2% สำหรับผู้ซื้อ และมีผลต่อต้นทุนคิดเป็น 2.2% ในฝั่งผู้ขายหรือผู้ประกอบการ
แน่นอนว่าการลดดอกเบี้ย 1 สลึงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณดอกเบี้ยขาลง “ครั้งแรก” ในรอบ 4 ปี
แบงก์ชาติยังต้องทำมาตรการด้านการเงินอะไรที่มากกว่านี้อีก เพื่อปลดล็อกการทำธุรกิจให้มีสภาพคล่อง ต่อลมหายใจผู้ซื้อ-ผู้ขายในวงจรธุรกิจให้ยืนระยะจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง
แนวโน้มอนาคตปี 2568 ยังมีระเบิดเวลาด้านการเงินอีกหลายลูกรอให้แบงก์ชาติปลดสลัก ยกตัวอย่างแค่เรื่องการจ่ายคืนหุ้นกู้ เรื่องเดียวก็หนักหนาสาหัสแล้ว เริ่มต้นจากลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมทีละ 1 สลึงก็ยังดี