คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
ชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ได้กลับเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง ทำให้มีการคาดการณ์ว่า “สงครามการค้าโลก” จะกลับมารุนแรงอีกครั้ง
เพราะทรัมป์จะมุ่งเน้นไปที่การขึ้นภาษีนำเข้าต่อประเทศคู่ค้าในทุกสินค้า
รวมถึงปัญหาสินค้าจีนทะลักไทยรุนแรงมากขึ้น เพราะกำลังการผลิตส่วนเกินในจีนไม่สามารถระบายไปยังตลาดสหรัฐได้ง่าย
ขณะที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าประเทศไทยจะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานผลิต โดยเฉพาะจากจีน ที่ต้องกระจายความเสี่ยงการลงทุนจากการตอบโต้ของสหรัฐ
แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ก็มองว่าประโยชน์ที่ไทยได้รับ อาจน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทยเอง
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจีนจะใช้ไทยเป็นเพียง “ทางผ่าน” ของสินค้าไปยังสหรัฐเท่านั้น (Rerouting) ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตในไทยน้อยมาก และยังเสี่ยงกับการถูกมาตรการตอบโต้จากสหรัฐอีกด้วย
และเรื่องที่จีนจะย้ายฐานมาไทย เพื่อหลบมาตรการกีดกันการค้าไม่ใช่เรื่องง่าย กูรูหลายท่านยืนยันว่าถ้าสหรัฐจะกีดกันยังไงก็ไม่รอด
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์จีน ยกทัพเข้ามาลงทุนในไทยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว
จากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า คำขอรับส่งเสริมลงทุนช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ สูงถึง 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% สูงสุดในรอบ 10 ปี
ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ 8 โครงการ เงินลงทุน 92,764 ล้านบาท และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) 55 โครงการ เงินลงทุน 61,302 ล้านบาท รวมถึงอุตสาหกรรมรถอีวี
แต่ยังมีคำถามว่า เม็ดเงินลงทุนมหาศาลดังกล่าวมีผลต่อเศรษฐกิจไทย และคนไทยมากแค่ไหน อย่างเช่น อีวี ที่มากันทั้งซัพพลายเชน จนผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยต้องล้มหายตายจาก
ขณะที่ “ดาต้าเซ็นเตอร์” ของยักษ์เทคทั้งหลายที่เป็นที่ทราบกันดีกว่า มูลค่าลงทุนมหาศาลนั้น คือการนำเข้าอุปกรณ์เทคโนโลยีเข้ามาเกือบ 100%
เม็ดเงินต่อเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้มากเหมือนตัวเลขการลงทุน
และดาต้าเซ็นเตอร์ ได้ชื่อเป็นอุตสาหกรรมที่หิวกระหายพลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำปริมาณมาก
รวมถึงอุตสาหกรรม PCB ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน และทั้งสองอุตสาหกรรมก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
และที่สำคัญมีการจ้างงานต่ำมาก ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีควบคุมเป็นหลัก
จึงเกิดคำถามว่าภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล ถึงผลประโยชน์ที่จะตกอยู่กับประเทศไทยอย่างไรบ้าง
หรือจะมีมาตรการอย่างไร ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยและคนไทยได้ประโยชน์จากทัพลงทุนที่เข้ามา เพื่อไม่ให้ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย มีสถานะเหมือน “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”
แต่ต้องทำให้ผู้ประกอบการไทย และคนไทยได้ประโยชน์ด้วย
เรื่องนี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (แพทองธาร ชินวัตร) ระบุว่า นโยบายดึงการลงทุนต่างประเทศ (FDI) ถือว่าเป็นการลงทุนตามแนวคิดของต่างชาติว่าต้องการใช้ไทยผลิตอะไรในซัพพลายเชนของเขา
“เรียกว่าเราต้องทำตาม FDI อยากใช้เป็นฐานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เราก็ต้องเป็น จะเปลี่ยนไปทำดาต้าเซ็นเตอร์เราก็ต้องทำ คือเราไม่ได้กำหนดอนาคตตัวเอง”
ดร.ศุภวุฒิยืนยันว่า ประเทศไทยต้องมองหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะมาสร้างโอกาสให้คนไทยมีงานที่ดีทำอย่างทั่วถึง ถ้าไม่ตอบโจทย์ตรงนี้ก็ไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจไทย
ส่วนตัวมองว่าเราต้องมากำหนดอนาคตประเทศไทย ว่าคนไทยจะหากินอย่างไร เพราะการเป็นฮับ ดาต้าเซ็นเตอร์ อาจจะไม่ใช่แนวทางที่สร้างโอกาสให้คนไทยมีงานที่ดีทำอย่างทั่วถึง เพราะอุตสาหกรรมนี้จ้างคนน้อยมาก มีแต่ใช้พลังงานไฟฟ้า 24 ชั่วโมง และสร้างความร้อนสูง
พื้นฐานสำคัญเศรษฐกิจ คือเราต้องการสร้างงานที่ดีให้คนไทย ดังนั้นถ้าไม่ตอบโจทย์นี้ ก็ถือว่าไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจประเทศ เพราะผลต่อเศรษฐกิจไทยต่ำมาก