“หนี้” ปัญหาเรื้อรัง

ปัญหา เศรษฐกิจ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สันติ จิรพรพนิต

ถูกต้องแล้ว ถูกต้องที่สุด

เมื่อรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายสำคัญคือการเยียวยาปัญหาหนี้สินของคนไทย

เพราะหนี้ถือเป็นต้นตอหลัก ๆ ที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจต่าง ๆ กำลังหัวปัก

ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และการบริโภคอื่น ๆ

ทั้งหลายเหล่านี้อยู่ในสภาพย่ำแย่อย่างยิ่ง

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา คนไทยเจอปัญหาหนักหน่วงทั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 รวมถึงโควิด-19

ADVERTISMENT

ย้อนกลับไปดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เริ่มขยับขึ้นตั้งแต่วิกฤตน้ำท่วม จนถึงปี 2557 ปิดปีด้วยตัวเลข 79.6% ต่อจีดีพี

พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนรัฐบาลจากการรัฐประหาร

ADVERTISMENT

นับจากนั้นคนไทยเผชิญชะตากรรมรายจ่ายเพิ่ม-รายได้ลด

ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นทุกปี กระทั่งเจอโควิด-19 ตัวเลขก็พุ่งขึ้นไปอีก

ถึงสิ้นปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยปรับขึ้นสู่ระดับ 91.3% ต่อจีดีพี

ไม่เพียงหนี้ภาคประชาชนเท่านั้น แต่หนี้ภาครัฐหรือหนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย

ในปี 2563 รัฐบาลขยับเพดานก่อหนี้ไม่เกิน 60% เป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี

เพราะต้องการกู้เงินเพิ่มอีกกว่า 1 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมารัฐบาลชุดเก่าพยายามพยุงภาพรวมเอาไว้ แต่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นแทบทุกไตรมาส

สัญญาณ “ฝีแตก” เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566

กระทั่งรัฐบาลเปลี่ยนมือจากคนเดิมที่บริหารประเทศมายาวนาน 9 ปี เป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ช่วงเดือนกันยายน 2566

ปิดปีนั้นหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มเป็น 91.3% ต่อจีดีพี

บริหารประเทศอยู่ไม่ถึง 1 ปี ช่วงเดือนสิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ต้องพ้นตำแหน่งจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม การทำงานอยู่เกือบ ๆ 1 ปี รัฐบาลเศรษฐา กดหนี้ครัวเรือนลงจาก 91.3% ในสิ้นปี 2566

ลดเหลือ 89.6% ต่อจีดีพี ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567

จากสถิติพบว่าหนี้ครัวเรือนที่ตัวเลขต่ำกว่า 90% ต่อจีดีพี ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่ง หรือนับจากไตรมาส 3 ปี 2563

แม้ตัวเลขจะลดลงแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ส่งต่อถึงมือรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ซึ่งเริ่มบริหารประเทศช่วงเดือนกันยายน 2567 หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงนั้นจนถึงปัจจุบัน ยังรับผลพวงปัญหาหนี้จากอดีต

แต่สัญญาณหนี้ครัวเรือนเริ่มดีขึ้น หลายสำนักประเมินว่าปิดปี 2567 ตัวเลขน่าจะต่ำกว่า 90% ต่อจีดีพี

ถึงกระนั้นรัฐบาลยังต้องออกมาตรการช่วยเหลือ โดยออกแพ็กเกจใหญ่ ๆ ทั้งลดดอกเบี้ย หรือแฮร์คัตหนี้

รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ในการพยุงเศรษฐกิจให้เดินหน้า

โดยแพ็กเกจทั้งหมดจะออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในการแถลงผลงาน 3 เดือนรัฐบาล น.ส.แพทองธาร วันที่ 12 ธันวาคม นี้

พร้อมกับการแก้หนี้ของคนไทย อีกทางหนึ่งรัฐบาลเร่งขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลง

รวมทั้งเติมเงินในกระเป๋าให้คนไทยบางส่วน

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเฉพาะหน้า เช่น แจกเงิน 1 หมื่นบาท เฟส 1-2

ช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท ครอบคลุม 4.6 ล้านครัวเรือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า ทั้งการแจกเงิน-พักดอกเบี้ย

จะมีเม็ดเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจราว ๆ 1.6 แสนล้านบาท

บวกกับปัจจัยหนุนหลัก ๆ 3 ส่วน ทั้งการท่องเที่ยว และส่งออก

ประมาณการว่าสิ้นปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว ๆ 3%

ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แม้ประเมินว่าปีหน้าอาจเหนื่อยต่อ แต่อย่างน้อย ๆ ในภาพรวมกำลัง “ผงกหัว” ขึ้น

ขออย่างเดียว อย่ามีอุบัติเหตุแปลก ๆ จาก “การเมือง” มาเป็นตัวฉุดอีกเลย