ตามเขาไปดูงานแบงกิ้ง

ผยง ศรีวณิช
ผยง ศรีวณิช
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ชลิต กิติญาณทรัพย์

ไม่ธรรมดาครับสำหรับเวลา 8 ปีที่ผ่านมาของการขับเคลื่อนธนาคารภายใต้สโลแกน “ซ่อมสร้าง พลิกฟื้น และทรานส์ฟอร์ม” ของ คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ทำให้ธนาคารพาณิชย์ของรัฐก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้า

คุณผยงเริ่มจากซ่อมสร้างองค์กร ตอนเข้ามารับงาน แบงก์กรุงไทยมีสถานะเสมือน “คนป่วย” เขาปรับปรุง Portfolio สินเชื่อให้มีความสมดุล จากเดิมเคยปล่อยสินเชื่อกลุ่มธุรกิจที่ธนาคารไม่มีความชำนาญ ไม่มีความเข้าใจหรือมีความซับซ้อน ส่งผลทำให้สัดส่วน NPL สูงที่สุดในอุตสาหกรรม ปรับพอร์ตให้เหมาะสมจนธนาคารมีสุขภาพแข็งแรง

ลำดับต่อมา ปรับเปลี่ยนองค์กรก้าวทันยุคดิจิทัล ด้วยความเชื่อว่า โลกกำลังเข้าสู่ระบบโอเพ่นไฟแนนซ์ คุณผยงตัดสินใจเดินยุทธศาสตร์คู่ขนาน พัฒนา Mobile Banking (กรุงไทยเน็กซ์) กับระบบโอเพ่นไฟแนนซ์ (เป๋าตัง) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งนี้ทำให้กรุงไทยสามารถวิ่งทันคู่แข่งขัน ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างเต็มศักยภาพ

โครงสร้างลูกค้ากรุงไทย เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ในแง่ของปริมาณลูกค้าเติบโตจากเดิม 3.5 ล้านคน ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 40 ล้านคน ในแง่ของคุณภาพจากลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุ 52% ก็มีกลุ่มลูกค้า New Gen เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ

เฟสต่อมา เตรียมความพร้อม สร้างการเติบโต คุณผยง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน พัฒนาบุคลากรภายใน รับและค้นหาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน พร้อมกับสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเงิน

ที่สำคัญเขาสร้างวัฒนธรรมองค์กร “ไม่ทนต่อการทุจริต” มันคือกุญแจสำคัญที่จะนำพาธนาคารกรุงไทยไปสู่ความสำเร็จ

ADVERTISMENT

คุณผยงสรุป ยุทธศาสตร์ธนาคารคือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และนำเทคโนโลยีมาใช้

เส้นทางข้างหน้าอีก 4 ปี ซึ่งเขาเพิ่งได้ต่ออายุ นั่งเก้าอี้ซีอีโอจนปี 2571 Virtual Bank คือ New Growth Engine เครื่องยนต์ใหม่ของแบงก์กรุงไทย โจทย์การให้บริการทางการเงินเกิดจากบริบทข้อจำกัด บ้านเราการปล่อยกู้ไม่มี Data ที่เพียงพอ ส่วน Data ที่มีอยู่ใช้กันเต็มที่แล้ว ฉะนั้นกรุงไทยอยากเข้าถึงคนในชุมชนใหม่ การเลือกจับมือหรือเข้าสู่ชุมชนของโทรคมนาคมอย่าง AIS หรือชุมชนพลังงาน PTT OR เป็น Data และเป็นเรื่องท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง

ADVERTISMENT

ปลายเดือนที่ผ่านมา คุณผยงเดินทางไปดูงานที่ Minna Bank Virtual Bank ของญี่ปุ่น หลังจากที่เคยเดินทางไปศึกษารูปแบบโมเดล Virtual Bank ในหลายประเทศทั่วโลก แต่สาเหตุที่มาสะดุดที่ Minna Bank เพราะที่นี่น่าสนใจทั้งด้านหลักคิด วิธีการดำเนินงานและวิธีการแข่งขันกับธนาคารใหญ่ ซึ่งคล้ายกับแบงก์กรุงไทย

Minna Bank อยู่ภายใต้ร่มเงาของธนาคารใหญ่ระดับภูมิภาค (Regional Bank) แล้วแตกออกมาเป็น Virtual Bank เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เน้นช่องทางเข้าถึงแหล่งทุนด้วยช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก

จุดชี้ขาดของ Virtual Bank ในทรรศนะของคุณผยงคือ ความสามารถในการวิเคราะห์ Data แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีและ Data พร้อมสรรพก็ตาม จากข้อมูลของพันธมิตรจะทำให้เห็นถึงข้อมูลเชิงพฤติกรรมซึ่งข้อมูลของธนาคารไม่เห็น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้ เป็นประโยชน์ในการเข้าถึงลูกค้า ติดตาม แยกแยะลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นยังมีการพูดคุยกับ EY ที่ปรึกษาทางการเงินเรื่อง Green Finance ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกการเงิน ซึ่งจะต้องมีทิศทางที่สอดรับกับกระแสสังคมโลกที่กำลังเดินหน้าสู่มาตรการลดการปล่อยคาร์บอน หรือ Net Zero

ผมติดตามเขาไปดูงาน มีโอกาสได้ฟังได้เห็นได้ความรู้ซึ่งมีรายละเอียดเยอะมาก ขออนุญาตกลับมาเขียนสรุปโดยสังเขปเพียงเท่านี้นะครับ