ทุเรียนลาวน่าห่วง ??

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : วิมล ตัน

ไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย กับปรากฏการณ์นักลงทุนจีน เวียดนาม รวมถึงมาเลเซีย ที่แห่แหนกันขอสัมปทานเข้าไปยึดพื้นที่ปลูกทุเรียนในประเทศลาว

มีข่าวคราวมาตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว แต่ที่หยิบมาเป็นหัวข้อให้ความสนใจในช่วงนี้อีกรอบ ก็เพราะคาดว่า ผลผลิตทุเรียนลอตแรกน่าจะได้เห็นและเข้าสู่ท้องตลาดในช่วงต้นปี 2568 นี้

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ระบุว่า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สมาคมธุรกิจการเกษตรลาวได้มีการประชุมสรุปตัวเลขว่า ปัจจุบันลาวมีพื้นที่ปลูกทุเรียนแล้ว 170 แห่ง รวมกว่า 125,000 ไร่ ผลผลิตลอตแรกที่คาดว่าจะได้จากต้นทุเรียนประมาณหมื่นต้น ได้ทุเรียนประมาณ 900 ตัน

หลักใหญ่ใจความเกิดจากนโยบายของรัฐบาลลาวเมื่อหลายปีก่อน ที่ส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก โดยกำหนดเป้าหมายปี 2564-2567 จะส่งออกสินค้าเกษตร 9 ชนิด เช่น น้ำตาล เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง กล้วย มะม่วง ถั่วลิสง รวมถึงผลไม้ราชา (King of Fruits) อย่างทุเรียน ตั้งเป้ารายได้เข้าประเทศ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท

ที่ทำให้คนไทยตกตะลึง ก็น่าจะเป็นภาพการปลูกต้นทุเรียนแบบใช้ภูเขาทั้งลูก ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ชายแดนติดกับไทยนี่เอง รวมถึงพื้นที่ทางใต้อย่างจำปาสัก โดยเฉพาะที่แขวงอัตตะปือ บริษัท เจียรุ่น (Jiarun) ของจีนได้สัมปทานไปถึง 31,250 ไร่ ว่ากันว่า พื้นที่ใหญ่กว่าเซ็นทรัลพาร์ค นครนิวยอร์ก ถึง 15 เท่า

แต่ถ้าดูจากตัวเลขเป้าหมายที่สมาคมปลูกทุเรียนลาวระบุว่า เป้าหมายผลผลิตปี 2573 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะได้ 24,300 ตัน มูลค่า 155.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5,287 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าเล็กน้อยมาก ถ้าเทียบกับตัวเลขผลงานของไทยที่ส่งขายจีนในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ที่ 755,000 ตัน มูลค่า 3,730 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 126,820 ล้านบาท

ADVERTISMENT

วงการทุเรียนเมืองไทยอาจจะกังวล โดยเชื่อว่า ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า หากจีนในฐานะที่เป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุด และเป็นลูกค้าหลักที่สำคัญของทุเรียนไทย พยายามผันตัวเองมาเป็น “ผู้ผลิต” ด้วยการเข้าไปปลูกทุเรียนในลาว ลงทุนปรับปรุงพัฒนาให้ได้คุณภาพทัดเทียมทุเรียนไทย ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นนำเข้าจากลาว แทนที่สั่งซื้อจากไทย เมื่อนั้น ทุเรียนไทยจะตกที่นั่งลำบาก

แต่หากย้อนรอยบทเรียนในอดีตกรณี “กล้วยหอม” รัฐบาลลาวเคยส่งเสริมด้วยการให้สัมปทานจีน สนับสนุนปลูกกล้วยหอมเพื่อส่งออก แต่ปรากฏว่า ในปี 2560 ลาวเริ่มประสบปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อพื้นที่ปลูกกล้วยหลายร้อยไร่มีการใช้สารเคมีและยาปราบศัตรูพืชอย่างหนัก จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน สารเคมีตกค้างไหลลงสู่แม่น้ำสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จนนำมาซึ่งการไม่ต่ออายุสัมปทาน ยุติการปลูกกล้วยไปโดยปริยาย

ADVERTISMENT

เชื่อว่า ทุเรียนน่าจะยากกว่า และส่อแววล้มเหลวสูงกว่ากล้วยเสียอีก เพราะกล้วยใช้เวลาปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตภายในปีเดียว แต่ทุเรียนหนึ่งต้นกว่าจะออกลูกเพื่อขาย จะต้องมี 3-5 ปี

แถมเป็นช่วง 3-5 ปีที่ต้องการการดูแลสูงและทั่วถึง เพราะทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่มีข้อจำกัดในการปลูก เป็นพืชที่ต้องการน้ำ ยิ่งปลูกในพื้นที่กว้างใหญ่ ยิ่งต้องการน้ำมาก ในขณะที่ลาวมีเพียงแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายหลัก โหมปลูกพร้อม ๆ กันเป็นพันเป็นหมื่นไร่ ต้องใช้น้ำขนาดไหนถึงจะได้ผลผลิตที่ดี มีมาตรฐานเพียงพอสำหรับส่งออก

แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ทุเรียนไทยชะล่าใจ ไม่เห็นทุเรียนลาวอยู่ในสายตา

ไม่ว่าจะมีลาวในสนามแข่งหรือไม่ ทุเรียนไทยจำเป็นต้องรักษาคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ต้องพยายามพัฒนาให้ได้ทุเรียนพรีเมี่ยม ไม่ใช่แข่งที่ปริมาณ เพื่อเป้าหมายรักษาแชมป์ส่งออกปีละแสนล้านบาท

เพราะทุเรียนเวียดนาม พยายามไล่บี้แบบหายใจรดต้นคออยู่