คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง
พระภรรยาเจ้า ที่รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกว่า “เมียรับแขก 3 คน” ในพระที่นั่งอัมพรสถานนั้นมีที่มา เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอัมพรสถาน มีหมายกำหนดการระหว่างวันที่ 18-22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449
ก่อนหน้านั้น มีการเตรียมการตกแต่งพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ถึงพระยาสุขุมนัยวินิต และพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ เกี่ยวกับรูปภาพ เครื่องประดับตกแต่งพระที่นั่งอัมพรสถานวังสวนดุสิต และพระที่นั่งพระองค์อื่น และการเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะ ตอนหนึ่งว่า
“…เพราะเหตุว่าเรามีเมียรับแขก ๓ คน ดังเช่นที่เคยพูดเนือง ๆ เราจะต้องแบ่งไปแต่งพระที่นั่งจักรี พระที่นั่งอุทยาน เพราะเดี๋ยวนี้ดูโหรงเหรง ดูไม่ได้ทั้ง ๒ แห่ง เหตุด้วยของไม่พอแต่ง จึ่งต้องยกให้เดือนละแห่ง…”
หนังสือชื่อ “วังสวนดุสิต เมื่อพระพุทธเจ้าหลวง สร้างบ้านสร้างเมือง” อธิบายความหมายของพระราชหัตถเลขาดังกล่าวไว้ว่า
“เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระมเหสีและเจ้าจอมเป็นจำนวนมาก แต่ ‘เมียรับแขก 3 คน’ ที่ตรัสถึงนั้น เมื่อพิจารณาจากพระอิสริยยศสูงสุด และรองลงมาตามลำดับ น่าจะหมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ส่วนพระองค์ที่ 3 น่าจะเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ประทับอยู่ ณ พระที่นั่งอุดรภาค หรือทางตอนเหนือ”
“แม้ว่าพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฎ จะประทับอยู่พระที่นั่งฝั่งตะวันตก (ปรัศจิมภาค) ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อพระที่นั่งอัมพรสถาน แต่ทรงพระอิสริยยศเป็นพระอรรคชายาเธอ จึงมิได้นำมารวมไว้ ตามที่ทรงแจ้งหมายกำหนดการในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อ พ.ศ. 2449 ว่า พระที่นั่งตอนเหนืออุดรภาค คือเรือนสุขุมาล หรือปรัศจิมภาคชั้นล่างคือตอนเจ้าสาย”
“การรับแขกบ้านแขกเมือง หรือเมื่อมีงานพระราชพิธีต่าง ๆจึงทรงต้องจัดสถานที่และเตรียมหมายกำหนดการให้พระมเหสีแต่ละองค์ ตามเสด็จแตกต่างกันไปแต่ละคราว ตามความเหมาะสม”
สำหรับพระภรรยาเจ้า ในรัชกาลที่ 5 มีด้วยกัน 9 พระองค์ ประกอบด้วย 1.สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ 2.สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี 3.สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี 4.พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี 5.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
6.พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน 7.พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา 8.พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ
และพระภรรยาเจ้าจากประเทศราช อีก 1 คือ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา มีเชื้อสายวงศ์เจ้าเจ็ดตนทั้งทางพระบิดาและพระมารดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกเจ้าดารารัศมี เป็นการส่วนพระองค์ว่า “เมียโปลิซี”
เส้นทางของการเป็นพระราชชายา หรือ “เมียโปลิซี” เริ่มจาก พ.ศ. 2429 รัชกาลที่ 5 มีโปรดเกล้าฯ จัดงานสมโภชในวโรกาสสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะนั้นเจ้าดารารัศมี 13 ชันษา ทรงติดตามพระเจ้าอินวิชยานนท์พระบิดามาร่วมพระราชพิธีฯ และได้รับโปรดเกล้าฯ รับราชการฝ่ายใน ในปีนั้น
เจ้าดารารัศมี มีพระตำหนักขนาดใหญ่ก่ออิฐฉาบปูนสูง 4 ชั้น สถาปัตยกรรมตะวันตก ตกแต่งด้วยไม้สักที่ส่งมาจากเชียงใหม่ ชาววังมีการกล่าวต่อ ๆ กันว่า รัชกาลที่ 5 เคยทักท้วงเจ้าดารารัศมี ว่า “ใช้เงินเป็นเบี้ย” และทรงเรียกเจ้าดารารัศมีเป็นการส่วนพระองค์ว่า “เมียโปลิซี”
เมื่อเจ้าดารารัศมี ประสูติพระราชธิดา นามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี” ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็น “เจ้าจอมมารดา”
ต่อมา เจ้าดารารัศมี ได้กราบบังคมทูลลากลับไปเยี่ยมพระประยูรญาติเป็นครั้งแรกหลังจากจากมาเป็นเวลา 21 ปี รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชอิสริยยศ ขึ้นเป็น “พระราชชายา”