ราคาที่ต้องจ่าย

ตัดไฟ แก๊งค์คอล
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สันติ จิรพรพนิต

เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ กับมาตรการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการป้องกันในเชิงยุทธศาสตร์ต่าง ๆ

ล่าสุดกับการตัดไฟฟ้าแนวชายแดน 5 จุดในเมียนมา ที่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นศูนย์บัญชาการของแก๊งคอลฯ

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหา เช่น ออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ พ.ร.ก.ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

ให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ รวมถึงธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ร่วมรับผิดชอบ หรือเยียวยากรณีเกิดการหลอกลวงให้โอนเงิน

เพราะจากสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) ในความดูแลของ 3 รัฐบาล 3 นายกรัฐมนตรี

ไล่จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายเศรษฐา ทวีสิน และปัจจุบัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

ADVERTISMENT

ตัวเลขเฉพาะที่หน่วยงานรัฐได้รับการร้องทุกข์มีความเสียหายเฉียด ๆ 8 หมื่นล้านบาท

หากนับรวมพวกยิบย่อย หรือกลุ่มที่อับอายไม่กล้าแจ้งความ

ADVERTISMENT

เชื่อว่าความเสียหายคงแตะ ๆ 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาเหล่านี้เสมือนแก้ที่ปลายเหตุ

จึงเป็นที่มาของแผนตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต รวมถึงจำกัดการส่งน้ำมันไปเมียนมา

จะว่าไปการเรียกร้องตัดไฟฟ้าเกิดมาพักใหญ่ก่อนรัฐบาลชุดนี้ด้วยซ้ำ และรัฐบาลก่อน ๆ เคยตัดไฟไปแล้ว 2 จุด

จนมาในครั้งล่าสุดตัดเพิ่มอีก 5 จุด

โดยหวังว่าจะจัดการต้นตอของแก๊งคอลฯ

เพียงแต่ความคิดกับความจริงนั้นไม่ได้อยู่ในทางเดียวกันเสมอไป

เพราะพื้นที่เมียนมาบางจุดที่ถูกตัดไฟฟ้า เช่นท่าขี้เหล็ก เปลี่ยนไปซื้อไฟฟ้ามาจาก สปป.ลาว ที่มีนายทุนแดนมังกรเป็นเจ้าของสัมปทาน

ตอนแรกส่งเข้ามาเต็ม ๆ 30 เมกะวัตต์ ก่อนลดเหลือ 13 เมกะวัตต์ในภายหลัง

นอกจากใช้ไฟฟ้าจาก สปป.ลาวแล้ว ฝั่งเมียนมาบางส่วนใช้เครื่องปั่นไฟทำงานทั้งวัน ทั้งคืน

จนทางการไทยต้องควบคุมการขายน้ำมันอีกทางหนึ่ง

สิ่งที่เห็นทันทีในช่วง 2-3 วันแรก การใช้ไฟฟ้าในฝั่งเมียนมาทั้ง 5 จุดลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่เป็นการลดลงในส่วนของหมู่บ้าน ที่พักอาศัยของพลเมือง ส่วนอาคารสูงที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลฯ หรือบ่อนพนันออนไลน์ยังเปิดไฟอยู่บางส่วน แต่น้อยลงกว่าเดิม

ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมาย เพราะคงไม่มีใครคาดหวังว่าเพียงตัดไฟฟ้า ลดการส่งน้ำมัน แล้วแก๊งคอลฯ จะหายไปทันทีแบบดีดนิ้ว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามาตรการกดดันนี้คงได้ผลประมาณหนึ่ง

แต่ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าแก๊งคอลฯ คงไม่ถึงกับเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นเพียงเพราะเหตุนี้

เพราะจะว่าไปการลงมือของแก๊งคอลฯ อุปกรณ์หลัก ๆ มีแค่โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก เท่านั้น

สำคัญที่สุดคือทักษะของ “คน” ที่ลงมือล่อลวงเหยื่อ

ถ้าจัดการกับ “คน” ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงให้ความรู้ การเตือนซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ เพื่อให้คนไทยรู้เท่าทันมากขึ้น

จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด

แต่เอาเถิด ไม่ว่าการตัดไฟ ลดการส่งออกน้ำมันจะได้ผลมากน้อยขนาดไหน ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

แม้จะเป็นการลงมือแบบ “เผาป่าล่าหนู” ก็ตาม

เพราะประเทศไทยมีทางเลือกไม่มากนัก เนื่องจากถูกบีบจากหลายฝ่ายทั้งภายในและภายนอก

โดยเฉพาะข้อครหาเรื่อง “ไทยเทา” และผลประโยชน์

เพียงแต่เมื่อทำแบบนี้แล้ว ไทยต้องพร้อมยอมรับกับ “ราคาที่ต้องจ่าย”

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้าชายแดน ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน การทะลักเข้ามาของผู้อพยพ

รวมถึงข้อกล่าวหาทางมนุษยธรรม

ทางการไทยจึงต้องเตรียมแผนรับมือ เพื่อบรรเทาความเสียหายจากสถานการณ์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน