
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : ชลิต กิติญาณทรัพย์
ช่วงต้นปีนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรัฐมนตรีคลัง ได้พูดถึงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปี 2568 ในการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน โดยกระทรวงการคลังจะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต.ให้สามารถดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิด หรือให้ ก.ล.ต.มีอำนาจสั่งฟ้องได้
“ก.ล.ต.จะมีอำนาจในการดำเนินคดีอาญา สามารถทำสำนวน สามารถดำเนินคดีได้โดยตรง แต่การส่งฟ้องต้องให้อัยการตามเดิม ซึ่งจะลดขั้นตอนการสอบสวน และเตรียมดำเนินคดีเอง”
ยังไม่มีใครทราบว่า การแก้ไขกฎหมายใหม่ที่จะออกมายังไง จะให้อำนาจ ก.ล.ต.ทำหน้าที่แทนตำรวจ หรือร่วมมือกับตำรวจ คงต้องรอดูรายละเอียดกันต่อไป
ปัจจุบันนี้การดำเนินการกับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเป็นคนชี้เป้าว่ามีการกระทำผิดในลักษณะใดบ้าง สร้างราคาหุ้นหรือปั่นหุ้น ใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบนักลงทุน เป็นต้น จากนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯรวบรวมหลักฐานส่งให้ ก.ล.ต. แล้ว ก.ล.ต.จะพิจารณาหรือตรวจสอบ การดำเนินคดีเริ่มจากคดีแพ่งเรียกผู้กระทำผิดมารับทราบข้อกล่าวหา ถ้าผู้กระทำผิดยอมรับ กฎหมายให้อำนาจ ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับ
หากจะดำเนินคดีทางอาญา ก.ล.ต.ต้องหอบข้อมูลไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือดีเอสไอ แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือดีเอสไอ เริ่มกระบวนการสืบสวนสอบสวนทำสำนวนส่งให้อัยการฟ้องร้อง
กระบวนการระหว่างตำรวจไปอัยการพูดกันมากว่า “ล่าช้ามาก หรือโคตรล่าช้า” สาเหตุที่ใช้เวลาเนิ่นนานมีหลายปัจจัย ตั้งแต่ความรอบรู้เรื่องตลาดทุน ตั้งแต่เรื่องหลักทรัพย์ ความซับซ้อนของกระบวนการซื้อขายหุ้น ฯลฯของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือดีเอสไอมีความรู้อย่างจำกัดกว่าจะเรียนรู้จนเข้าใจสามารถสั่งฟ้องได้ถึงเวลาฤดูกาลโยกย้ายอีกแล้ว คนใหม่เข้ามาต้องเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่
ประเด็นสำคัญ คือ ขบวนการกระทำผิดในตลาดหุ้นมูลค่ามันมหาศาล ได้เสียกันหลักพันล้านหมื่นล้าน หากมีผลประโยชน์ตกหล่นระหว่างทาง สิ่งที่ไม่คาดฝันย่อมเกิดขึ้นได้ อาทิ คดีปั่นหุ้นที่ลือลั่นในอดีตนั้น ผู้กระทำผิดรอดตัวเนื่องจากสมุดเช็คที่เป็นตัวเชื่อมโยงหรือเป็นหลักฐานให้ครบองค์ประกอบการปั่นหุ้นหายไปอย่างไร้ร่องรอย
ฉะนั้นความเชื่อมั่นในตลาดทุนของเมืองไทยจึงตกต่ำอย่างน่าใจหาย ขนาดองค์กรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนทั้งหมดกว่า 10 สถาบัน จะออกมานั่งแถลงข่าวเรียกความเชื่อมั่นก็ตาม แต่ตลาดไม่ตอบรับ
วัตถุประสงค์ในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ของกระทรวงการคลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะลดความเสียหายของตลาดทุนและเป็นส่วนหนึ่งดึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนกลับมา
แต่ในข้อเท็จจริงความสามารถของภาครัฐในการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษต่างหากที่กำลังบ่อนทำลายตลาดทุนของเมืองไทย ถ้าเอาตัวมาลงโทษได้ ความเชื่อมั่นจะกลับคืน
ฉะนั้นเป็นเรื่องน่ายินดีหรือน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง หากกระทรวงการคลังจะแก้ไขกฎหมายแล้วเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากเรื่องของตลาดทุนนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมีความซับซ้อนมาก เครื่องมือแต่ละอัน กระบวนการซื้อขายแต่ละอย่าง นับวันพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับตลาดทุนและการสืบสวนสอบสวน
การให้อำนาจสืบสวนสอบสวนกับ ก.ล.ต.ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์ฯของต่างชาติหลายประเทศ เขาดำเนินการและปฏิบัติมาช้านานแล้ว บางประเทศให้ ก.ล.ต.อำนาจถึงขั้นสามารถดักฟังเครื่องมือสื่อสารได้ด้วย และมีหลายประเทศที่สามารถนำตัวผู้บริหารระดับสูงมาลงโทษถึงขั้นติดคุกติดตะรางมาแล้ว