คืนภาษี ! ข่าวปลอม

คอลัมน์ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

ฤดูการจ่ายภาษีตั้งแต่ 1 ม.ค.ไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. และยื่นแบบออนไลน์ถึงวันที่ 8 เม.ย. 2568 มีข่าวจริงตีคู่มากับข่าวปลอมแทบทุกปี

ข่าวจริง คือปีนี้กรมสรรพากรต้องเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมาย 2.3725 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายปีที่แล้ว 95,000 ล้าน แต่เนื่องจากปีงบประมาณ 2567 เก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าไป 8,500 ล้านบาท เท่ากับว่าปีนี้ต้องจัดเก็บเพิ่มกว่า 1 แสนล้านบาท

เฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรมสรรพากรจัดเก็บได้ปีละราว 400,000 กว่าล้านบาท

ข่าวจริงอีกข้อ ที่อธิบดีกรมสรรพากร นายปิ่นสาย สุรัสวดี ประกาศด้วยตัวเองคือ กลุ่มที่ “ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม” สรรพากรบริการให้ผ่อนชำระ แต่ถ้า “ได้คืนภาษี” สรรพากรพยายามพิจารณาคืนให้เร็วที่สุด ภายใน 3-5 วันทำการ (หากไม่ติดเกณฑ์ตรวจเอกสารเพิ่มเติม)

กลุ่มที่มักเผชิญกับข่าวปลอม หรือหลอกจ่ายภาษี-คืนภาษี คือผู้มีเงินได้ราว 11 ล้านคน พวกมนุษย์เงินเดือนที่ต้องจ่ายภาษีมีราว 4 ล้านคน

ข่าวปลอมล่าสุด ช่วงไฮซีซั่นการจ่ายภาษีปีนี้ วันที่ 20 ก.พ. 68 ข่าวปลอมระบาดติดอันดับคนอ่าน คนแชร์อันดับต้น ๆ คือ หัวข้อข่าวที่ว่า “กรมสรรพากร ส่งอีเมล์แจ้งสิทธิรับเงินคืนภาษี 5,000 บาท ให้ยืนยันข้อมูลบัญชีธนาคารเพื่อรับเงิน”

ADVERTISMENT

ในรายละเอียดข่าวปลอมระบุว่า กรมสรรพากรส่งอีเมล์แจ้งสิทธิรับเงินคืนภาษี 5,000 บาท ให้ยืนยันข้อมูลบัญชีธนาคาร เพื่อรับเงินจากกรมสรรพากร

ขณะที่กระทรวงการคลังได้ชี้แจงข่าวชิ้นนี้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของมิจฉาชีพที่ทำการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร หลอกส่งอีเมล์ให้ประชาชนคลิกลิงก์ยืนยันข้อมูลบัญชี

ADVERTISMENT

ข้อเท็จจริงคือ “กรมสรรพากรไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ส่งอีเมล์แจ้งสิทธิรับเงินคืนภาษีถึงผู้เสียภาษีแต่อย่างใด จึงขอแจ้งเตือนผู้เสียภาษีอย่าหลงเชื่อคลิกลิงก์ยืนยันใด ๆ โดยเด็ดขาด อาจทำให้ถูกขโมยข้อมูลสำคัญส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงินได้…โปรดระวัง อย่าหลงเชื่อข่าวมั่ว”

ในฤดูเดียวกันนี้ วันที่ 14 ก.พ. 67 มีการเผยแพร่ข่าวปลอมระบุว่า “รัฐหลอกให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาในโครงการเราไม่ทิ้งกัน เพื่อจะเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง” เกิดการอ่านและการแชร์ในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม

ข่าวจริงจากกรมสรรพากรในเวลานั้น ชี้แจงว่า “จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลว่า รัฐหลอกให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา เพื่อจะเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ทางกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระบุว่า กรมสรรพากรจะนำข้อมูลของผู้ลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกัน ใช้ในการตรวจสอบภาษีย้อนหลังของกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระนั้น”

“ขอแจ้งว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง กรมสรรพากรขอยืนยันว่า ผู้ลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน เพื่อรับเงินตามมาตรการดังกล่าว จะไม่ถูกนำข้อมูลการลงทะเบียนมาใช้ในการตรวจสอบภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรมีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว จึงขอให้ประชาชนอย่ากังวล และขออย่าให้ตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวเก่าที่มีคนนำมาเผยแพร่ซ้ำให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าว”

และเนื่องจากการบริจาคให้วัดวาอาราม นำไปลดหย่อนภาษีได้ การหลอกลวงพระ จึงเกิดขึ้นรัว ๆ เมื่อปีที่แล้ว โดยมีการแชร์ข้อความข่าวปลอม เรื่องการเสียภาษีของพระ ว่า “กรมสรรพากรกำหนดให้พระทุกรูป ต้องเสียภาษีผ่านบัญชีกลางของวัด”

ข่าวนี้ถูกศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมออกมาแชร์ข้อเท็จจริงทันควัน กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า กรมสรรพากรกำหนดให้พระทุกรูปต้องเสียภาษีผ่านบัญชีกลางของวัด โดยเริ่มให้บางวัดเปิดบัญชีแล้ว กรมสรรพากร กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และมีเจตนาทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ส่วนกรณีที่แจ้งว่า ได้เริ่มให้บางวัดเปิดบัญชีแล้ว ที่จะเห็นว่า มีคิวอาร์โค้ด เป็นเพียงอีกหนึ่งบริการของกรมสรรพากรที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการจะบริจาคเงินให้กับวัดเท่านั้น โดยใช้ระบบ e-Donation ไม่ต้องเก็บเอกสารประกอบการยื่นแบบเสียภาษี

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

อีกข่าวปลอม ที่เคยพบว่าเกิดการอ่านและแชร์มหาศาลเสมอ คือ ข่าว “กรมสรรพากรโทรศัพท์เรียกจ่ายหนี้ภาษีอากรค้างชำระ” ซึ่งกรมมีการชี้แจงว่า “กรมสรรพากรไม่มีการโทรศัพท์เพื่อเรียกจ่ายหนี้ภาษี”

ข่าวจริงที่สุด ที่เกิดขึ้นทุกปี คือฝ่ายผู้มีเงินได้ที่ยื่นแบบชำระภาษีกว่า 4 ล้านคนต่างหาก ที่เป็นผู้โทรศัพท์สอบถามการขอคืนภาษี !