
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
ถ้าพูดถึงผู้บริหารในแวดวงธนาคารพาณิชย์ ชื่อของ “ปิติ ตัณฑเกษม” ซีอีโอธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) แม้จะไม่ใช่ซีอีโอแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ แต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่ามีแสงในตัว
หลังจากที่เข้ารับภารกิจซีอีโอของ ttb ตั้งแต่มกราคม 2561 ถึงปัจจุบัน เรียกว่าเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว
ล่าสุดก็มีชื่อไปเป็นแคนดิเดต “ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” ที่จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกในไม่กี่เดือนข้างหน้า
แต่พลันที่มีข่าวเป็นจังหวะที่ซีอีโอ ttb มีประชุมทาวน์ฮอลกับพนักงานกว่า 3,000 คน ช่วงปลาย ก.พ.ที่ผ่านมา “ปิติ” ก็ได้ปฏิเสธกระแสข่าวต่อหน้าพนักงาน ทั้งระบุว่าอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันทำงานผลักดันเรื่องต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงได้ดีกว่า
ทำไมถึงมีชื่อ “ปิติ ตัณฑเกษม” โผล่มา
ต้องยอมรับว่ามุมมองและแนวคิดของนายธนาคารท่านนี้ไม่ธรรมดา ทั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและมีส่วนร่วมให้หลาย ๆ โครงการสำเร็จ
ไม่ว่าจะระบบพร้อมเพย์, คนละครึ่ง (ยุคลุงตู่) จนถึงมาตรการแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย” ที่เป็นความร่วมมือของสมาคมธนาคารไทยกับ ธปท.
แม้มาตรการนี้หลายคนจะมองว่าไม่สำเร็จเท่าที่ควร เพราะผู้เข้าร่วมโครงการไม่ได้มากอย่างที่คาดหวัง ซึ่ง ณ กลางเดือน ก.พ. มีลูกหนี้ลงทะเบียนเข้าร่วมอยู่ที่ 8.2 แสนราย จากลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีที่ตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 2 ล้านราย
แต่สำหรับ “ปิติ” มองต่าง “ผมว่ามาตรการนี้โคตรสำเร็จ สำหรับคนที่ต้องการแก้หนี้ แต่จะไม่สำเร็จสำหรับคนที่ไม่ต้องการแก้หนี้”
โครงการนี้คือกระจกสะท้อนสถานการณ์ได้ว่า “มันไม่ใช่ปัญหาการแก้หนี้” เพราะมีลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการจะแก้หนี้ ยิ่งหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน การเดินจากไปง่ายที่สุด (แค่ติดเครดิตบูโร)
“ปิติ” ยืนยันว่า “คุณสู้ เราช่วย” ถือว่าเป็น “ยาแรงที่สุด” สำหรับการแก้หนี้ เพราะให้ชำระหนี้โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย (3 ปี) ถ้าลูกหนี้ยังไม่เอา
เรียกว่าสุดทางแล้วสำหรับการแก้หนี้ ซึ่งกำลังจะเข้าแดน Moral Hazard เพราะถ้ามากกว่านี้ก็คือต้อง “ยกหนี้” ให้เลย
“ปิติ” ตอกย้ำว่า การทำนโยบายอะไรให้สำเร็จต้องมีทั้ง Pain และ Gain เพราะหากจะอยู่เหมือนเดิมโดยไม่ยอมเสียอะไร แต่ต้องการให้ “ผลลัพธ์เปลี่ยน” คงไม่ได้
ดังนั้นส่วนตัวจึงไม่สนับสนุนนโยบายแจกเงินตรง ๆ อย่างน้อยเป็น “คนละครึ่ง-คนละเสี้ยว” ก็ยังดี เพราะเท่ากับว่าประชาชนต้องเสียหรือจ่ายเองบางส่วนเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
นอกจากนี้ ซีอีโอ ttb ก็เสนอไอเดียว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ “สามเหลี่ยมพีระมิด” แบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม และใช้นโยบายที่แตกต่าง
กลุ่มแรก “ฐานราก” ต้องให้สิ่งที่ใช้ทำมาหากิน เช่น เกษตรกรก็แจกคูปองแลกปุ๋ยแลกยา, กลุ่มไรเดอร์ก็แจกคูปองเติมน้ำมันฟรี
คนฐานรากควรได้รับสิทธิบางอย่างที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของเขา แต่ไม่ใช่ “แจกเงิน” เพราะแจกเงินหมื่น ผลสำรวจ TDRI ก็พบว่าส่วนใหญ่เอาไปใช้หนี้ไม่ได้หมุนในระบบเศรษฐกิจ
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มตรงกลาง รายได้ 20,000-30,000 บาท/เดือน ก็ทำโครงการจ่ายคนละครึ่ง หรือคนละเสี้ยว ร้านอาหาร หรือร้านค้าต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโปรแกรม
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มบนมีกำลังซื้อ ก็ต้องทำโครงการกระตุ้นให้ใช้จ่าย เช่น เรื่องการให้สิทธิลดหย่อนภาษี
“ปิติ” อธิบายว่า ปัจจุบันตลาดบ้านตลาดรถมีปัญหา เพราะลูกค้า “กู้ไม่ผ่าน” ขณะที่คนมีกำลังซื้อ หรือ “คนที่กู้ผ่าน” ก็ไม่มากู้ เพราะมองว่าเศรษฐกิจไม่ดีระวังการใช้เงิน ดังนั้น รัฐบาลต้องหามาตรการ “กระตุ้นให้คนมีเงินออกมาใช้เงิน”
เช่น ถ้าซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 10 ปี โดยกำหนดต้องซื้อในปีนี้เพื่อกระตุ้นอสังหาฯ
สิ่งสำคัญที่ต้องการบอกคือ การดำเนินนโยบายต้องมองโจทย์การกระตุ้นในแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี ซีอีโอ ttb ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย รัฐบาลจะใช้มาตรการกระตุ้นอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมาครบทั้ง “กระตุ้น-ซ่อม-สร้าง (ลงทุนใหม่)”