แบงก์เลียไอติม ดอก กนง.เหลือ 10 ตังค์

debt
คอลัมน์ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

16 ตุลาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25% เหตุผลเพื่อลดภาระหนี้ประชาชน โดย กนง. มีมติ 5: 2

จำได้ว่าตอนนั้นทำเอาน้ำตาจิไหลไปทั้งประเทศ รวมทั้งวงการภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะสินค้าที่อยู่อาศัยในส่วนของกำลังซื้อคนไทย สัดส่วน 90-95% ซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมด้วยการกู้เงินมาซื้อ มีเศรษฐีไฮโซจำนวนน้อยนิดเพียง 5-10% เท่านั้น ที่ซื้อด้วยเงินสด

ล่าสุด แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 แบงก์ชาติโดย กนง. ทำเซอร์ไพรส์คนทั้งประเทศ ด้วยการเคาะลดดอกเบี้ยเฉยเลย 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาเหลือ 2.00% หลายคนขนลุก เลยไม่ได้ร้องเฮ ออกมาดัง ๆ

รอบนี้ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางคนพูดขำ ๆ ว่า กนง.ลง 1 สลึง โดยไม่มีเค้าลาง อยู่เหนือความคาดหมาย ต้องไปกราบพระสยามเทวาธิราชที่ช่วยดลใจ และฝากความหวังว่า ปีนี้ยังมีพันธสัญญาลงได้อีก 1 สลึง ถ้าจริงตามนี้ เท่ากับดอกเบี้ยนโยบายยังลุ้นให้ลงมาที่ 1.75% ได้อยู่

น่าสนใจว่าเสียงโหวตเริ่มแตก โดยกรรมการ กนง. 6 เสียงโหวตให้ลด เหลือเพียง “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” 1 เสียงโหวตไม่ลด เหตุผลในการลดดอกเบี้ยไม่ใช่เพื่อลดภาระหนี้ประชาชน แต่เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คิด ถ้าคงดอกเบี้ยไว้ คงเกรงว่าจะเป็นนโยบายขึงตึงเกินไป

เวลามีอะไรเซอร์ไพรส์แบบนี้ต้องไปถามต่อ คนใกล้ตัวก็ต้องผู้บริหารวงการอสังหาริมทรัพย์ โดย “ธีระ ทองวิไล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ค่ายพฤกษา เรียลเอสเตท ตอบชัดถ้อยชัดคำ จริง ๆ ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่…

ADVERTISMENT

แต่ประเด็นอยู่ที่ดอกเบี้ย กนง.ลดลงมา 0.25% หรือลดลงมา 25 สตางค์ ปรากฏว่าระหว่างทางไม่รู้ดอกเบี้ยล่องหนไปไหน 15 สตางค์ เพราะธนาคารปรับลดลงมาให้ผู้กู้รายย่อยแค่ 0.1% หรือลดแค่ 10 สตางค์เท่านั้นเอง ทำให้การส่งต่อดอกเบี้ยยังช่วยอะไรไม่ได้มาก อัตราผ่อนต่องวดเงินกู้ต่อเดือนยังประมาณหนึ่ง ไม่ได้ลดเยอะ

“ดอกเบี้ยส่งต่อมาให้ผู้กู้รายย่อยลดแค่ 0.1% สินเชื่อวงเงิน 1 ล้านก็ลดแค่พันเดียว ไม่ได้ลดอะไรมาก”

ADVERTISMENT

แล้วท่านเอกชนอยากได้อะไรจากแบงก์ชาติ หรือแบงก์เอกชนล่ะ “ปัจจัยลบที่เป็นผลกระทบให้กับวงการอสังหาฯตอนนี้ เรื่องอัตราดอกเบี้ยควรจะลดอีก อาจจะครั้งเดียวก็พอ แต่มาตรการที่มีน้ำหนักมากกว่าเป็นเรื่องการผ่อนปรน LTV อยากให้ปลดล็อกให้กู้ผ่าน อยากให้ผ่อนผันการพิจารณาสินเชื่อ การพิจารณาคุณสมบัติผู้กู้มากกว่า ทำยังไงให้ซื้อบ้านแล้วสามารถกู้ผ่านเพื่อโอนบ้านได้ด้วย”

ความเห็นพ้องกันมาจากนักรบดอกเบี้ย-นักรบ LTV “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทย ชี้ให้เห็นว่า อย่างน้อยที่สุด กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเดือนตุลาคม 2567 แบงก์เอกชนยังส่งต่อมาให้ผู้กู้รายย่อย 12 สตางค์ ถึงแม้จะแค่ครึ่งเดียวก็ตาม แต่รอบนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 การส่งต่อส่วนลดดอกเบี้ยน้อยกว่าเดิม ในขณะที่ผลประกอบการแบงก์ทำตัวเลขนิวไฮซ้ำซาก ลูกหนี้สินเชื่อทั้งลูกหนี้ผู้ประกอบการและลูกหนี้กู้รายย่อย จะไม่ให้ค้อนได้อย่างไร

สิ่งที่อยากเห็นต้องย้อนทิศกลับมาที่ต้นทางคือแบงก์ชาติในฐานะผู้คุ้มกฎดอกเบี้ยนโยบาย ทำอย่างไรให้การลดดอกเบี้ยนโยบาย แล้วมีการส่งต่อได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยไปถึงลูกค้าสินเชื่อปลายทาง

พูดเรื่องนี้แล้ว ทำให้นึกถึงภาษิตงบประมาณแผ่นดิน มีคำว่าทฤษฎีเลียไอติม งบฯก้อนโตออกจากต้นทาง กว่าจะมาถึงโต๊ะสุดท้ายในระดับปฏิบัติที่ปลายทาง หดเหลืองบฯก้อนติ๊ดเดียว เหมือนไอติมแท่งเต็ม ระหว่างนำส่งปลายทาง ทุกขั้นตอนก็ช่วยกันเลียคนละแผล็บสองแผล็บ จบปลายทางแทบจะเหลือแต่ก้านไอติม เนื้อไอติมหายไปไหนก็ม่ายรู้

แน่นอนว่าเอกชนคงไม่ได้หวัง กนง.ลดดอก 25 สตางค์ แล้วแบงก์จะส่งต่อทั้งก้อน เพราะนายแบงก์ทุกคนจะพูดตรงกันว่า อิมพอสสิเบิล แต่อย่างน้อยก็ไม่น่าจะใช่ 10 สตางค์มั้ยคับท่าน