รับศึกใน-นอก

กรุงไทย เตือนธุรกิจวางแผนรองรับเหตุการณ์ไม่แน่นอนสูง “การเมืองป่วน-ส่งออกชะลอ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองของประเทศ และของโลกตึงเครียด เพิ่มดีกรีร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ในระดับนานาชาติ ความร้อนแรงมาจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐ มาเป็น “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่กำลังนำพาสหรัฐไปในทิศทางใหม่

ส่งผลให้เกิด “สงครามการค้า” ที่ดุเดือด และน่าจะสร้างความสูญเสีย ไม่แพ้สงครามที่รบกันด้วยกำลังอาวุธ

รบใกล้บ้านและยังข้ามโลกมาฟาดกับยักษ์ใหญ่ฝั่งตะวันออก

สงครามการค้าที่เกิดขึ้น ไม่มีใครยอมใคร แต่ทุกประเทศต่างมีแท็กติก กลยุทธ์ในการรับมือ ตามแบบฉบับของตนเอง

ใครมีศักยภาพอย่างไร งัดขึ้นมาใช้เพื่อรักษาสถานการณ์ของประเทศตัวเองให้ไปต่อในโลกให้ได้

ADVERTISMENT

สำหรับประเทศไทย ก็ไม่อาจหลุดไปจากความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นได้

ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกันกับนานาประเทศ ที่ต้องปรับตัวปรับนโยบายกันอย่างเต็มที่

ADVERTISMENT

เป็นงานหนักของรัฐบาลแน่นอน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ไปจนถึงรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ศึกใน หรือการเมืองในประเทศ ก็หนักหน่วงเอาเรื่อง จากหลายมรสุมที่กำลังดาหน้าเข้ามา

ที่ร้อนแรงในพื้นที่สื่อ ก็คือ ญัตติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน ที่เล็งอภิปรายนายกฯแพทองธาร ชินวัตร เพียงคนเดียว

ก็เกิดปัญหาขึ้น เมื่อ ประธานวันมูหะมัดนอร์ มะทา สั่งให้ฝ่ายค้านแก้ไขญัตติ ตัดชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” บิดาของนายกฯ ออกไป

แต่ฝ่ายค้านยังไม่พอใจกับเหตุผลในการให้ตัดชื่อบิดานายกฯ ตามที่ประธานระบุ

ดังนั้น คงจะต้องงัดกันหน้าดำหน้าแดงต่อไปอีกสักพัก

และน่าสงสัยว่า จะเกิดการอภิปรายในวันที่ 24 มี.ค. ตามที่กำหนดไว้เดิมหรือไม่

เพราะประธานสภาบอกว่า ถ้าไม่ตัดออก จะไม่บรรจุญัตติไม่ไว้วางใจลงในระเบียบวาระ

อีกเรื่องร้อน ๆ คือ ปัญหาการเลือก สว. ที่มีผู้ร้องเรียนว่าเกิดการฮั้วกัน และมีการใช้เงินใช้ทอง

ร้องเรียนต่อ กกต. ที่มีหน้าที่โดยตรง แต่ไม่ปรากฏผลใด ๆ เลยไปร้องกับดีเอสไอ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ

สุดท้าย คณะกรรมการคดีพิเศษตัดสินให้ดีเอสไอ รับคดีในส่วนที่้ดีเอสไอมีอำนาจไปดำเนินการ นั่นคือที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน และความผิดฐานอั้งยี่

ทางกลุ่ม สว. ก็ไม่ยอมอยู่เฉยเหมือนกัน มีการตอบโต้ด้วยการเสนอญัตติอภิปรายวิจารณ์การทำงานของฝ่ายที่เข้ามาตรวจสอบตนเอง

ไปจนถึงเข้ายื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานดีเอสไอ

ก็ต้องถือว่าเรื่องราวได้ลุกลามขยายวง จากการปฏิบัติปกติ กลายเป็น “ความขัดแย้ง” ที่มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง

อภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ส่วนปัญหา สว.ก็เป็นที่รู้กันว่า เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร

จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่ากระทบต่อการทำงานของรัฐบาลแน่นอน

ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อแก้ปัญหาภายใน หรือการรับมือปัญหาจากภายนอก

ธรรมดาของการเมือง ต้องมีปัญหาและข้อขัดแย้งอย่างไม่หยุดหย่อนเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องบริหารจัดการ หรือหาทางแก้ไข

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ

บางเรื่องต้องไปแก้ไขกฎหมาย แก้กันไปถึงรัฐธรรมนูญ ปรับเปลี่ยนวิธีการต่าง ๆ ที่พูดกันมามากแล้ว

ซึ่งเมื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะกลายเป็นอีกปัญหาที่ทับซ้อน เป็นปมใหม่ขึ้นมาอีก

สุดท้ายก็ต้องแขวนเอาไว้ก่อน เพราะมีหน้าที่ก็จริง แต่ไม่มีอำนาจเพียงพอ

สภาพการเมืองอย่างนี้ ทำให้ใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาล ต้องอยู่ในความสุ่มเสี่ยง

โดยเฉพาะคือ สุ่มเสี่ยงที่จะต้องตกเป็นรองในสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอก