‘สปส.’ อย่าปล่อยผ่าน

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สันติ จิรพรพนิต

จัดเป็นมหากาพย์ที่ลากยาวกันมา และน่าจะไปต่ออีกพักใหญ่ กับเรื่องราวของสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส.

จุดเริ่มมาจากการตั้งข้อสังเกตการใช้เงินของ สปส. โดย น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ และ นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี จากพรรคประชาชน

ล่าสุดที่มาแรงและได้รับความสนใจ คือ การลงทุนซื้ออาคารสำนักงาน “SKYY9” สูง 36 ชั้น บนที่ดินราว ๆ 4 ไร่ ถ.ดินแดง ตกลงซื้อ-ขายกันในช่วงปี 2565-2566

ส.ส.พรรคประชาชนระบุว่า สปส.ซื้อมาในราคา 7,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะสูงกว่าราคาเหมาะสม

ความเป็นมาของอาคารหลังนี้ เดิมชื่อ I.C.E.Tower เริ่มก่อสร้างไม่นาน เจอวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จึงถูกทิ้งร้างหลายปี

สุดท้ายตกเป็นของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในราคา 1,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

ก่อนเปลี่ยนมือไปอยู่กับบริษัทเอกชน เริ่มปรับปรุงซ่อมแซม ก่อสร้างแล้วเสร็จช่วงปี 2564

กระทั่งขายต่อให้ สปส. ในราคา 7,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

เมื่อมาดูราคาที่ดินของอาคารดังกล่าวที่มีเกือบ ๆ 4 ไร่ ตัวเลขจากกรมธนารักษ์ ที่ประกาศราคาประเมินที่ดินรอบปี 2566-2569 ถ.ดินแดง ราคาประเมินตารางวาละ 300,000 บาท

แต่เป็นที่รู้กันว่าการซื้อ-ขายที่ดิน จะแพงกว่า 2-3 เท่าของราคาประเมิน

หากใช้สูตรนี้คำนวณ เอาแบบแพง ๆ ไปเลย ราคาที่ดินของอาคาร “SKYY9” จะตกตารางวาละ 1 ล้านบาท ตีเฉพาะราคาที่ดินอยู่ประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท

ส่วนต่างที่เหลือคือราคาของอาคาร ??

แถมเป็นอาคารเก่า ต่อให้รีโนเวตดีอย่างไร แต่อายุของโครงสร้างอาคารก็เสียเปล่าไปกว่า 20 ปีแล้ว ก่อนที่จะตกมาถึงมือ สปส.

เห็นข้อมูลที่ออกมาแล้ว ไม่แปลกว่าทำไมจึงมีคำถามตัวโต ๆ ว่า สปส.ใช้เหตุผลอะไรในการตัดสินใจซื้อ

เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาฯประเมินว่า เงิน 7,000 ล้านบาท หาซื้ออาคารและที่ดินขนาดใกล้เคียงกัน ในทำเลใจกลางย่านธุรกิจ ทั้งสาทร หรือสุขุมวิทตอนต้น ๆ ได้สบาย

ด้วยกระแสและข้อสงสัยที่ออกมาเรื่อย ๆ ทำให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบฯของ สปส. ในทุกภาคส่วน

จะว่าไปแล้วการสอบสวนกรณี สปส. สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่น่าจะมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะข้อกล่าวหาทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดนี้เข้าบริหารประเทศ

แม้จะมีรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลเก่า ๆ มาอยู่ในรัฐบาลนี้ด้วย แต่หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจริง ๆ ก็ควรเดินหน้าหาข้อเท็จจริงจนถึงที่สุด

เพราะต้องไม่ลืมนะครับว่า สปส.เป็นหน่วยงานเฉพาะ ไม่ใช่หน่วยงานราชการตรง ๆ ที่รายรับส่วนใหญ่มาจากงบประมาณแผ่นดิน

แต่เงินที่ใช้ไปทุก ๆ ปีของ สปส.ส่วนใหญ่เป็นของแรงงานคนไทย

จากตัวเลขล่าสุดของ สปส. ช่วงปลายปี 2567 แรงงานไทยในระบบประกันสังคม รวมกันสูงถึง 24,812,815 คน

แบ่งเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ ตามมาตรา 33 จำนวน 12,081,112 คน

ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39 จำนวน 1,791,840 คนและผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรา 40 จำนวน 11,011,863 คน

รายรับส่วนใหญ่ของ สปส.มาจากแรงงานจำนวนนี้ โดยมีนายจ้างสมทบให้บางส่วน (5% จากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท เฉพาะมาตรา 33) และรัฐสมทบอีกบางส่วน

การใช้จ่ายหรือลงทุนอะไรที่มีข้อน่าสงสัย ย่อมกระทบถึงผลประโยชน์ของแรงงานไทยในระบบ สปส. ที่มีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรไทย

ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะเพิกเฉย หรือปล่อยผ่าน

เช่นเดียวกับแรงงานไทยในระบบประกันสังคม ต้องจับตาและสนับสนุนให้ตรวจสอบอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเรียกร้องโดยตรง หรือผ่าน สส.ในพื้นที่ของตน

อย่าปล่อยให้เกิดการ “ลูบหน้าปะจมูก” หรือทำแบบ “งุบ ๆ งิบ ๆ”

จนเรื่องเงียบหายไป เหมือนหลายกรณีครหาที่เกิดขึ้น กับหน่วยงานราชการอื่น ๆ