สัมพันธ์ไทย-จีน 50 ปี

ความสัมพันธ์ไทย-จีน 50 ปี
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย กับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ครบรอบ 50 ปี เป็นวาระสำคัญยิ่งใหญ่ของ 2 ประเทศ

ไทยกับจีน ที่มีความผูกพันและติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้) ซึ่งมีบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชนชาติไทย และที่เด่นชัดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับจีน ซึ่งมีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน และไทยได้รับเทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผามาจากจีนในช่วงเวลาดังกล่าว

ความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างไทยกับจีน น่าจะเริ่มมีขึ้นในช่วงนี้ด้วยจากการอพยพของชาวจีนในช่วงสงครามสมัยราชวงศ์หยวนและในช่วงต้นราชวงศ์หมิง มีการติดต่อค้าขายและมีชาวจีนจำนวนมากเข้ามาตั้งรกรากในไทย

โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกและสงครามกลางเมืองของจีน ในทศวรรษที่ 1930-1950 มีชาวจีนจำนวนมากจากมณฑลทางใต้ของจีน อาทิ กวางตุ้ง ไห่หนาน ฝูเจี้ยน และกว่างสี เข้ามาสร้างชีวิตใหม่ในประเทศไทย

ในยุคสงครามเย็นไทย-จีนขาดช่วงการติดต่อระดับทางการช่วงเวลาหนึ่ง แต่กระแสการเมืองโลกดังกล่าวก็ไม่อาจจะตัดความผูกพันและความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างแนบแน่นระหว่างประชาชนไทย-จีนได้

กว่า 50 ปี นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ นายโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราชอาณาจักรไทย ถือเป็นการเปิดฉากความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ประเทศ

ADVERTISMENT

สัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและราบรื่น และเป็นแบบอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีระบบการปกครองแตกต่างกัน โดยมีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนและต่อเนื่องตลอดมา

ในทศวรรษแรกหลังจากที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ไทยและจีนประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันอันนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนั้น ซึ่งได้ช่วยสนับสนุนการพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสนามรบกลายเป็นตลาดการค้า

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ พื้นฐานความเข้าใจและความใกล้ชิดดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนอีกด้วย

สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศจีน ทุกพระองค์ทรงให้ความสำคัญและทรงสนพระราชหฤทัยในการเชื่อมความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างสองประเทศให้ยิ่งใกล้ชิด แน่นแฟ้น โดยเฉพาะการเสด็จพระราชดำเนินเยือนและการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างสองประเทศ

นับตั้งแต่ นายไฉ เจ๋อหมิน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทยคนแรก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ ถวายสาสน์ตราตั้ง ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ 22 มีนาคม 2519

2 ปีถัดจากนั้น นายเติ้ง เสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางเยือนไทย 5-11 พฤศจิกายน 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ต่อเนื่องมาถึง นายหลี่ เซียนเนี่ยน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ 11 มีนาคม 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 16 ตุลาคม 2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้แทนพระองค์ ซึ่งถือเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ (State Visit) ในรอบหลายสิบปี

จากนั้น นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนและภริยา เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2546

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลจีน ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม 2530 ทรงพบนายเติ้ง เสี่ยวผิง และนายว่าน หลี่ รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในรัชสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยคู่สมรส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม APEC ครั้งที่ 29

ในระดับพระราชวงศ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯเยือนจีนมากกว่า 50 ครั้ง ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีน และเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกของโลกที่ทรงศึกษาภาษาจีนในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง 1 เดือน และเสด็จฯ ในฐานะผู้แทนพระองค์ ทอดพระเนตรพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน กรุงปักกิ่ง 2008 และโอลิมปิกฤดูหนาว กรุงปักกิ่ง 2022

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ก็เสด็จฯเยือนจีนหลายครั้ง เป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงแสดงดนตรีกู่เจิ้ง “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” และรัฐบาลจีนได้ถวายสถานะ “ทูตวัฒนธรรม”

2568 จึงเป็นปีทองของมิตรภาพไทย-จีน ในรอบครึ่งศตวรรษ