
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : วิมล ตัน
กระทรวงพาณิชย์มีการคาดการณ์ฤดูผลไม้ของไทยในปีนี้ว่า จะมีผลผลิตมากกว่าปีที่แล้วถึง 15% โดยคาดว่าจะมีผลผลิตสูงถึง 6.736 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึงกว่า 8 แสนตัน
หน้าผลไม้โดยปกติจะเริ่มต้นในหน้าร้อนเดือนเมษายน ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งผลผลิตจะออกมากเป็นพิเศษในช่วง 3 เดือนแรก คือ เมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน
หากเจาะจงไปที่ “ทุเรียน-ราชาแห่งผลไม้” พระเอกหลักที่สร้างมูลค่าส่งออกสูงแตะ 1.3 แสนล้านบาท คาดว่าปีนี้จะมีผลผลิตมากถึง 1.767 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 37%
แต่ในขณะที่เพาะปลูกดี ผลผลิตเยอะ แต่การส่งออกทุเรียนปีนี้กลับฉายแววสารพัดปัญหา มีอุปสรรคที่อาจทำให้การส่งออกไม่ได้ตามเป้าหมาย 1.3-1.4 แสนล้านบาท อย่างที่คาดหวังกัน
เริ่มจากต้นปี วันที่ 10 มกราคม 2568 ประเทศจีน ผู้นำเข้าทุเรียนอันดับหนึ่งของไทย ออกมาตรการ “จัดระเบียบ” โดยสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC)สั่งระงับการนำเข้าทุเรียนที่ปนเปื้อนสารย้อมสี Basic Yellow 2หรือ BY2 และผู้นำเข้าจะต้องแนบใบรับรองผลตรวจสาร BY2
รวมไปถึงสารแคดเมียม ตามด้วยคำสั่งถัดมา ด้วยการควบคุมคุณภาพโรงคัดบรรจุ (ล้ง) และสวนทุเรียนที่ได้มาตรฐาน กล่าวคือ ไม่ขึ้นทะเบียนสวนและล้งใหม่ สวนและล้งเก่าที่หมดอายุก็จะไม่ได้รับการต่อทะเบียน หมายความว่า มีการคุมกำเนิดล้งและสวนที่สามารถดำเนินการส่งออกทุเรียนไปจีน
โดยรวมแล้ว มาตรการที่ออกมาส่งผลกระทบให้ยอดการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงตรุษจีนที่น่าจะมีการสั่งซื้อสูง แต่กลายเป็นว่า ทุเรียนไทยแทบทุกลอตถูกตีกลับ เพราะไม่มีใบรับรอง BY2 หรือมีใบรับรอง แต่ตรวจพบสาร BY2 หรือแคดเมียมเกินมาตรฐานที่กำหนด ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการตรวจตู้ขนส่งทุเรียนเข้าจีนมีผลให้ขั้นตอนการนำเข้ายุ่งยากมากขึ้น ใช้เวลาในการส่งสินค้านานขึ้น
ขณะที่สินค้าทุเรียนถูกจำกัดด้วย Shelf Life หรือระยะเวลาการเก็บรักษาทุเรียน จากปกติทุเรียนจะถูกเด็ดจากต้นในระยะความสุก 70% และใช้เวลาจากสวน มาบรรจุที่ล้ง และส่งขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ เดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง ใช้เวลา 10-15 วัน ถึงมือผู้บริโภคจะสุกพอดี แต่พอเพิ่มระยะเวลานานขึ้นที่ด่านตรวจสินค้าทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มเป็น 20-25 วัน อาจทำให้คุณภาพ ความอร่อยของทุเรียนด้อยลงได้
ดังนั้น ส่งออกลำบากใช้เวลามากขึ้น กลายเป็น “เรื่องท้าทาย” ว่า ปีนี้ทุเรียนจะทำรายได้เกินแสนล้านบาทหรือไม่
นอกจากนี้ เรื่องวุ่น ๆ ในวงการทุเรียน ยังไม่จบแค่นี้ ยังมีเรื่องการเมืองเข้ามาให้ได้ขบคิด เมื่อจู่ ๆ ก็ปรากฏจดหมายร้องเรียนจากสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 แต่ไม่มีลายเซ็นผู้ส่ง ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ตรวจสอบการทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท เมดิคอล แอนด์ ฟู้ด แลบ จำกัด ของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
โดยจดหมายระบุว่า บริษัทดังกล่าวเป็นรายเดียวที่เป็นผู้ตรวจสอบหาสาร BY2 ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร และมีการเรียกเก็บเงินค่าตรวจสารจากเกษตรกร ทำให้วันที่ 12 มีนาคม 2568 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงนามคำสั่งให้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มาช่วยราชการที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เป็นระยะเวลา 3 เดือน
หลังจากนั้น วันที่ 14 มีนาคม 2568 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามคำสั่ง (ลับ) แต่งตั้ง นางนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จนกว่านายรพีภัทร์จะเสร็จสิ้นภารกิจ
ดูเหมือนว่า คำสั่งทะแม่งพิกล ไม่รู้ว่า หนังสือร้องเรียนมีผลให้ต้องย้ายอธิบดี แต่ทำไมย้ายไปทำอีกหน้าที่หนึ่ง และมีเวลาแค่ 3 เดือน ไม่เกี่ยวกับการสอบสวนเรื่องทุจริต เอื้อประโยชน์ที่ร้องเรียนเลย
เป็นระยะเวลา 3 เดือน ใกล้เคียงกับช่วงฤดูผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดอีกด้วย