เหล็กเส้นในกระแส ‘กรรม’ กำลังทำงาน

ตึก สตง.
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

ศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 เป็นวันที่ต้องจดจำในชีวิตกับเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” และภาพเลวร้าย “ตึก สตง.” ถล่ม ทำให้ใจยิ่งหดหู่ สงสารทุกชีวิตในซากตึก

เฉพาะซากปรักหักพังก็สูงเท่ากับตึก 7 ชั้น ใครขับรถผ่านไปมาบนทางด่วนจะเห็นชัด “จุดเกิดเหตุ” อยู่ใกล้ตึกแดง เจเจ มอลล์ ซึ่งตรงข้ามกับสถานีกลางบางซื่อ

ทำให้สังคมสงสัย ทำไมตึกถล่มง่ายจัง สร้างไปถึง 30 ชั้นแล้ว เป็นเพราะฐานราก เสาเข็มเป็นขาไก่หรือเปล่า

มีปัญหาเหล็กเส้นต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่

คำตอบก็ออกมาชัดจากหน่วยงานพิสูจน์ตรวจสอบ

ทำให้วัสดุหลักอย่างเหล็กเส้นได้รับความสนใจมากขึ้น

ADVERTISMENT

ว่าด้วยพื้นฐานความรู้ มนุษย์เรารู้จักเหล็กมานานมากแล้ว เริ่มจากการใช้หิน และสัมฤทธิ์ ก่อนจะมาถึงยุคเหล็กในช่วง 1200-550 ปีก่อนคริสตกาล หรือสมัยก่อนพระพุทธเจ้า

มนุษย์ค้นพบเหล็กจากอุกกาบาต แล้วนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธกันทั่วโลก พอมาถึงยุคเหล็ก ยุคที่มนุษย์รู้จักทำเตาไฟให้มีความร้อนสูงจนหลอมเหล็กได้ร้อนเดือดมากกว่า 1,250 องศาเซลเซียส ช่วงนั้นมนุษย์ก็เริ่มเรียนรู้เทคโนโลยี และวิธีการพัฒนาคุณภาพเหล็ก

ADVERTISMENT

ส่วนใหญ่เข้าใจว่า เหล็กที่ดีคือเหล็กบริสุทธิ์ที่มี Fe 100% ความจริงคือคนละเรื่อง เหล็กมีความซับซ้อนในตัว

เหล็กที่ดีต้องไม่ใช่เหล็กบริสุทธิ์ แต่ต้องเป็นเหล็กที่มีธาตุอื่นผสมเจือปนในสัดส่วนที่ตรงกับคุณสมบัติใช้งานทั้งคาร์บอน, โครเมียม, นิกเกิล, แมงกานีส, โมลิบดีนัม, วาเนเดียม, ซิลิกอน และโบรอน (ใช้มากในอุตสาหกรรมรถยนต์ ทั้งตัวถังและชิ้นส่วนแชสซี)

เหล็กจึงมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกันเลย วิธีการหลอม และอุณหภูมิ รวมถึงการทำให้เย็นก็เป็นเทคนิคทำให้เหล็กมีความเหนียว ความเปราะ และทนรับแรงกระแทก

เรื่องเตาหลอมก็สำคัญปัจจุบันมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ OH, BO, EF และ IF แต่ในไทยมีอยู่แค่ 2 ชนิด คือ EF และ IF

เหล็กที่หลอมแบบ IF จะไม่สามารถกำจัดสิ่งเจือปนออกได้หมดจึงมีคุณภาพต่ำกว่า และมีโอกาสที่เหล็กจะมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอทั้งเส้นก็เป็นไปได้ จึงต้องมีการทำเครื่องหมายระบุให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ใช้งานรับรู้ เห็นกับตา ไม่มีเหล็กสูตรใดดีเลิศที่สุด ผู้ใช้ต้องเลือกเหล็กให้เหมาะกับงานจริงๆ

เหล็กที่ดีต้องผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐานตามหลักสากลทั่วโลก เพื่อการใช้งานแต่ละประเภทที่ถูกต้อง

ถ้าผิดไปจากนี้ นั่นหมายถึง ความหายนะ ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อย่างเคสตึก สตง.ถล่ม

โลกเรามีการพัฒนา เหล็กก่อสร้างก็เช่นกัน ภายใต้มาตรฐาน กฎระเบียบต่าง ๆ จึงมีการปรับปรุงมาตลอด เพื่อให้ทันต่อสภาวการณ์ในปัจจุบัน เช่น มาตรฐานเหล็กเส้นก่อสร้างที่ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานใหม่ ซึ่งเริ่มประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2559 และบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ก็เริ่มรัดกุม ด้วยมาตรฐานของ มอก.เหล็กฉบับใหม่ ที่มีการยกระดับมาตรฐานคุณภาพเหล็กให้สูงขึ้น

ด้วย 3 ข้อที่กำหนด คือ

1.เพิ่มการตรวจสอบและควบคุมค่าเคมีที่ต้องตรวจสอบในเนื้อเหล็กอย่างเข้มงวด จากเดิม 5 ชนิดเป็น 19 ชนิด

2.เพิ่มชื่อผู้นำเข้าเหล็กเส้นก่อสร้างเป็นตัวนูนลงบนเนื้อเหล็ก

3.กำหนดให้ผู้ผลิตแสดงชนิดของเตาหลอมที่ใช้ในการหลอมเหล็กเป็นตัวนูนเพิ่มลงไปบนเนื้อเหล็กทุกเส้น เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้เหล็กที่มีคุณภาพเหมาะสมกับลักษณะงาน

ต่อไปใครจะสร้างตึกสูง หรือซื้อคอนโดฯ ก็ต้องดูบริษัทก่อสร้างเป็นหลัก ซึ่งเป็นที่มาของความน่าเชื่อถือ และเลือกสเป็กวัสดุเหล็กแบบไม่บิดพลิ้ว

ถ้าผู้รับเหมาห่วย วัสดุต่ำมาตรฐานก็จบเห่

ความแตกต่างของงานประมูลภาครัฐและเอกชนจึงมีทั้งความต่างและส่วนต่าง

อาฟเตอร์ช็อกรอบนี้ กรรมกำลังทำงานและกำลังพาคนโกงไปสู่ดินแดน Killing Zone