อิ๊งค์ 8.2 ริกเตอร์

ตึก สตง.
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา ระดับความรุนแรง 8.2 ริกเตอร์ ส่งต่อแรงสั่นสะเทือนแบบกรรมติดจรวด ทำให้ตึก สตง.แห่งใหม่ 30 ชั้นที่กำลังก่อสร้างถล่มพังทลายลงมา

ขอย้ำว่าเป็นการถล่มพังทลาย (Collapse) เพียงตึกเดียว จาก 5,994 อาคารสูงในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอาคารก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว ทุกตึกยืนหยัดด้วยโครงสร้างอาคารที่ปลอดภัยแข็งแรง อยู่ภายใต้กฎหมายก่อสร้างต้านแผ่นดินไหวปี 2550 แบบเป๊ะเว่อร์

ด้วยความที่แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายต้น ๆ วันศุกร์ 28 มีนาคม 2568 ในยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ดังนั้น ภาพจำของการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ณ นาทีนี้ หนึ่งในภาพจำที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ นายกฯอิ๊งค์ 8.2 ริกเตอร์

แน่นอนว่าไม่ใช่ลิขสิทธิ์ทางปัญญา แต่เป็นลิขสิทธิ์ทางภัยพิบัติธรรมชาติ นอกจากความเจ็บปวดที่ได้รับ เรายังสามารถเรียนรู้จากบททดสอบแผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์นี้ มีอะไรให้เราเรียนรู้ได้อีกบ้าง

มีโอกาสฟังคลิปเยอะแยะไปหมด สะดุดกับปรมาจารย์ท่านหนึ่ง “ดร.ไพบูลย์ นวลนิล” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

แต่ที่สำคัญกว่า คืออาจารย์เป็นนักแผ่นดินไหววิทยาเพียงหนึ่งเดียวของไทย มีความรู้ด้านการตรวจวัดแผ่นดินไหว รวมทั้งการวิเคราะห์ แปลผลรูปคลื่นแผ่นดินไหวที่บันทึกเพื่อนำไปใช้ศึกษาวิจัย

ADVERTISMENT

จับใจความได้เบื้องต้นแบบ Snake Snake Fish Fish ดังนี้

รอยเลื่อนที่มีพลังและอยู่ใกล้ไทยมี 2 รอยเลื่อน 1.รอยเลื่อนสะกาย น่าจะประมาณตำบลหรืออำเภอสะกาย เมืองมัณฑะเลย์ เอามาตั้งเป็นชื่อรอยเลื่อน 2.รอยเลื่อนสุมาตรา อินโดนีเซีย เจ้าภาพตอนเกิดสึนามิโจมตีภูเก็ตในปี 2547 เหตุล่วงเลย 20 ปีมาแล้ว

ADVERTISMENT

ทั้ง 2 รอยเลื่อนนี้ อ.ไพบูลย์บอกว่ามีความยาว 1,000-1,200 กิโลเมตรขึ้นไป มีขนาดใหญ่พอที่เมื่อสะสมพลังได้ที่ ก็จะปะทุแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นมาเป็นรอบ ๆ โดยรอยเลื่อนสะกายอยู่บนบก เคยเกิดไหวรุนแรงเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ดังนั้น โอกาสเกิดรุนแรงอีกครั้งต้องรออีก 80 ปีข้างหน้า ใครอยู่ถึงก็นิมนต์สังเกตการณ์มาด้วยก็แล้วกัน

ส่วนรอยเลื่อนสุมาตราเกิดในทะเล มีรอบการเกิด 120 ปี ตอนนี้สึนามิล่วงเลยมาแล้ว 20 ปี หมายความว่าอีก 100 ปีจะปะทุรุนแรงอีกครั้ง

ประเทศไทยล่ะ เว็บไซต์กรมอุตุฯ แจ้งว่ามี 16 รอยเลื่อน แต่มีขนาด 200-300 กิโลเมตร อ.ไพบูลย์ฟันธงว่าขนาดเล็ก ไม่มีปัญญาสะสมพลังทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเหมือนสะกายกับสุมาตราได้หรอก ตรงนี้ไง ได้ยินแล้วเลยอยากฟังอาจารย์พูดจนจบ เพราะโค-ตะ-ระสบายใจขึ้นเยอะเลย

เมื่อ 2 ปีที่แล้วแผ่นดินไหวรุนแรงที่ตุรกี อ.ไพบูลย์เคยเสนอรัฐบาลไทยสร้างเครือข่ายตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ถ้ารัฐบาลเชื่อและลงทุนตามข้อแนะนำ เม็ดเงินลงทุน 100-200 ล้านบาท ป่านนี้เราจะมีเครือข่าย มีองค์ความรู้ที่แม้จะรู้ล่วงหน้าเสี้ยววินาที ก็เดิมพันช่วยได้หลายชีวิตแล้ว

ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น เมืองตัวพ่อแผ่นดินไหว เขามีเครือข่ายตรวจวัดแรงสั่นสะเทือน 3,000 จุดทั่วประเทศ ตอนนี้ญี่ปุ่นสบายใจว่ามีเครือข่ายมากพอ แต่กังวลเรื่องมีผู้สูงวัยเยอะเกินไป ทำให้แม้จะรู้ล่วงหน้า แต่ไม่สามารถอพยพด้วยตัวเองออกจากจุดแผ่นดินไหว เป็นที่มามีคำเตือนแผ่นดินไหวระดับ 9 ริกเตอร์ และคาดการณ์จะมีการตุย 3 แสนคน

จุดยากลำบากของการลงทุนรับมือแผ่นดินไหว ไม่ได้อยู่แค่เครือข่ายวัดแรงสั่นสะเทือนอย่างเดียว แต่ต้องสร้าง “นักแผ่นดินไหว” ให้มากพอ มีองค์ความรู้ในระดับที่จะอ่านและแปรผลตัวชี้วัดออกมาได้ถูกต้อง ตอนนี้เมืองไทยไม่มีทั้งเครือข่ายวัดและนักแผ่นดินไหว

อ.ไพบูลย์บอกว่าประเทศไทยต้องลงทุนวันนี้ อีก 10 ปีคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ ลงทุนวันนี้เพื่อลูกหลานวันข้างหน้า

ฟังแบบนี้แล้ว คงต้องฝากความหวังไว้กับนายกฯอิ๊งค์ 8.2 ริกเตอร์ ลงทุนวันนี้อีกสักเรื่อง เพื่อลูกหลานในวันข้างหน้าค่ะ