ปลดล็อกความท้าทายสู่การเติบโตยั่งยืน

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

แม้ว่าประเทศไทยจะมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่สหประชาชาติยังชี้ว่าประเทศของเรายังจำเป็นต้องเร่งการดำเนินงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว และคาร์บอนต่ำ รวมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ร่วมกับประชาคมโลก ภาคธุรกิจจึงต้องลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดล็อกทุกความท้าทายและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) เครือข่ายท้องถิ่นของโครงการสำคัญด้านความยั่งยืนของสหประชาชาติ ได้จัดทำรายงาน SDGs Mega Trends ที่รวบรวม 5 แนวโน้มสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปลดล็อกจากความท้าทาย สู่การเติบโตที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ และตอบโจทย์ SDGs ในหลากหลายมิติ

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)

วิกฤตฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ผลักดันให้โลกเริ่มเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลง และภาคเอกชนที่ปรับวิธีดำเนินธุรกิจอย่างทันท่วงที โดยนำแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประกอบธุรกิจอย่างจริงจังเท่านั้น จึงจะอยู่รอด และได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคต

โดยอาจเริ่มจากการศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solution) ซึ่งปัจจุบันแนวทางนี้ถูกนำไปปรับใช้ในหลากหลายโครงการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจมากมายทั่วโลกแล้ว

การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance)

ภาคการเงิน คือตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบ จึงเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนการลงทุนที่มอบคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และมูลค่าจากการประกอบการ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ ควบคู่ไปกับสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก ปัจจุบัน CFO จากหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกได้เปลี่ยนบทบาทการทำงานมาจาก Chief Finance Officer มาเป็นChief of Sustainability

โดยนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาบริหารการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจเป็นผู้ที่กำหนดทิศทางการลงทุนผ่านการคำนวณมูลค่าทางเม็ดเงิน และคุณค่าทางสังคม รวมทั้งคำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีไว้ให้กับคนรุ่นถัดไป

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)

การทำธุรกิจวันนี้ เปลี่ยนจากรูปแบบเดิมที่เน้นการแข่งขันเชิงปริมาณไปสู่การร่วมมือกัน และแบ่งปันความรู้เชิงคุณค่า โดยอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนและออกแบบธุรกิจยั่งยืน ให้อยู่ในรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน แนวคิดนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากธุรกิจต่างมองหาวิธีดำเนินงานในลักษณะที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น จึงต้องตรวจสอบย้อนกลับไปยังทุกขั้นตอนของการจัดหาการผลิต และการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ เพื่อหาวิธีลดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้

แรงงานและงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Workforce & Green Job)

งานที่มีส่วนช่วยอนุรักษ์หรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจาก COP26 Paris Agreement ที่รัฐบาลทั่วโลกได้ปฏิญาณตนร่วมกันว่าต่อจากนี้ทุกประเทศจะต้องสนับสนุนผู้คนที่กำลังทำให้โลกยั่งยืน หรือสายอาชีพงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทั่วโลกจึงมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและนวัตกรรม (Energy Transition & Innovation)

ทิศทางของโลกที่เปลี่ยนไปคือโอกาสใหม่ ๆ ของการลงทุน หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในระดับองค์กรที่ต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนให้เก็บเกี่ยวต่อไปในระยะยาว ทุกวันนี้ประเทศมหาอำนาจ และบริษัทใหญ่ทั่วโลกต่างตั้งเป้าหมาย Net Zero Emission ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายราย ชะลอหรือหยุดการลงทุนในการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม และหันไปลงทุนในพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะไปลดการเติบโตของอุปทานเชื้อเพลิงดั้งเดิมของตลาดโลก

ภาคธุรกิจที่สนใจสามารถดูรายละเอียดของ SDGs Mega Trends ได้ที่เว็บไซต์สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย www.globalcompact-th.com หรือติดตามในบทความตอนต่อ ๆ ไป ซึ่งจะนำเสนอเจาะลึกลงไปในแต่ละประเด็น พร้อมตัวอย่างการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจชั้นนำในประเทศไทย