บริหารทาเลนต์อย่างเข้าใจ

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ภาณุวัฒน์ เบ็ญเราะมาน
กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ดาร์วินบอกซ์

รายงานผลสำรวจล่าสุดจาก Robert Walters บริษัทจัดหางานชื่อดังสัญชาติอังกฤษ พบว่าภาวะอัตราเงินเฟ้อซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราค่าจ้าง และแรงงานในประเทศไทยกว่า 70% ของพนักงานในองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศเริ่มมองหาตำแหน่งงานใหม่ ซึ่งสามารถจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม

ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานฉบับเดียวกันพบว่ากลุ่มพนักงานยุคใหม่ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความยืดหยุ่นในการทำงาน และสถานที่ทำงาน รวมไปถึงเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงาน

ผลสำรวจดังกล่าวสามารถยืนยันข้อสังเกตของเราเป็นอย่างดีว่า แม้อัตราเงินเดือนจะยังมีความสำคัญเป็นอย่างมากในเชิงการจ้างงาน แต่กลับไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียวสำหรับพนักงานในยุคปัจจุบันอีกต่อไป ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น และโอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพในการทำงาน กลับเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา

ขณะเดียวกัน ในฝั่งองค์กรผู้จ้างงานเองก็เห็นด้วยกับความจริงที่ว่าการมอบโอกาสในการทำงานให้แก่พนักงานสามารถลด และจัดการปัญหาการลาออกของพนักงานได้ อย่างไรก็ดี ทางออกนี้ไม่สามารถใช้ได้ผลเสมอไป ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พนักงานปัจจุบันนี้ไม่ลังเลต่อการลาออกจากงานอีกต่อไป หากพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ในสถานที่ทำงาน

ความรับผิดชอบจึงตกอยู่ที่องค์กร ในการมอบประสบการณ์การทำงานที่เหมาะสม โดยยึดพนักงานเป็นศูนย์กลางในการบริหารงาน

เหตุใดองค์กรยุคใหม่จึงควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงพนักงานเป็นสำคัญ ?

การระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีการทำงานของ HR เป็นวงกว้าง หนึ่งในนั้นคือการเข้ามามีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีในการทำงานแบบอัตโนมัติ (automation) รวมไปถึงการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของจักรกล (machine learning-ML) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยให้พนักงานสามารถบริหารจัดการงานในความรับผิดชอบ และข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้นด้วยตนเอง

นับเป็นข่าวดีของพนักงานทุกคนที่ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อ เข้าถึง และช่วยเหลือพนักงานในองค์กรให้สามารถเติบโตทั้งในหน้าที่การงาน และการวางแผนชีวิตส่วนตัวได้อย่างทั่วถึง ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเหลือ

ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ สามารถสร้าง และบริหารจัดการประสบการณ์การทำงานที่ดีของพนักงานได้ตั้งแต่ต้นจนจบวงจรการทำงาน กล่าวคือ ตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหา และเริ่มงาน การประเมินผลการทำงานของพนักงาน ไปจนถึงการเกษียณจากการทำงาน

การใช้งานเทคโนโลยียังช่วยให้นายจ้างสามารถประเมิน และวิเคราะห์พฤติกรรม รวมไปถึงแนวโน้มลักษณะการทำงานของพนักงาน เพื่อวางแผน และมอบหมายงานได้ตามทักษะความสามารถในการทำงาน จากประวัติงาน และการศึกษา รวมไปถึงปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ เช่น ความสนใจส่วนบุคคล ข้อจำกัดในการทำงาน ลักษณะนิสัย และแรงบันดาลใจในการทำงานของพนักงานรายนั้น ๆ เป็นต้น

การที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท และส่งเสริมการบริหารงานเชิงบูรณาการในองค์กร จะทำให้เราสามารถมั่นใจได้ว่าองค์กรจะมีรูปแบบการบริหารงานที่เป็นธรรม ไม่แบ่งแยก พร้อมส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นประสบการณ์ที่ดีในการทำงานให้แก่พนักงานทุกคน

ถามว่าเราสามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วม และรักษาพนักงานที่ดีขององค์กรได้อย่างไร ?

ดาร์วินบอกซ์ได้พิสูจน์ให้เห็นมาตลอดว่า ระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management Software-HRMS) สามารถช่วยเหลือและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อองค์กร ทั้งยังสามารถรักษาและพัฒนาศักยภาพในการทำงานของพนักงานยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันนี้ดาร์วินบอกซ์ยังพยายามทดลองเชื่อมต่อระบบบริหารงานบุคคล เข้ากับระบบปฏิบัติการเชิงธุรกิจ

เช่น ระบบปฏิบัติการของ Microsoft เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ราบรื่น และไร้ช่องโหว่มากยิ่งขึ้น จะดีแค่ไหนหากพนักงานสามารถเรียกร้องเอกสาร และวันลาได้ผ่านระบบข้อความอัตโนมัติของ Microsoft Teams, กรอกแบบฟอร์มติชม หรือสามารถส่งแบบสำรวจได้ผ่านออนไลน์

HR เทคโนโลยี สามารถส่งมอบข้อมูลประสิทธิภาพการทำงาน พฤติกรรม และความคืบหน้าในการทำงานของพนักงาน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลการทำงานได้แบบเรียลไทม์ ข้อมูลจะถูกสรุปและนำเสนอในรูปแบบรายงานแผนภูมิรูปภาพที่ง่ายต่อความเข้าใจ

ข้อมูล และรายงานเหล่านี้จะสามารถช่วยให้พนักงาน บริหารจัดการปริมาณงาน และช่วยวางแผนการทำงานของตนเองได้อย่างมีระบบมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยให้หัวหน้างานสามารถตรวจติดตามผลการปฏิบัติงานของทีมแบบเรียลไทม์

รวมถึงกำหนดเป้าหมายในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพล่วงหน้าในด้านขององค์กร นอกจากนั้น ข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้บริหารสามารถบริหารงานได้อย่างโปร่งใส ยกระดับความพึงพอใจของพนักงาน ทั้งยังสามารถวางแผนปรับปรุงระบบงานที่จะประหยัดเวลา รวมไปถึงงบประมาณได้อีกด้วย

นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากเพื่อช่วยให้ผู้บริหาร หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตัดสินใจในเชิงการบริหารงานภายในองค์กร และตัดสินใจเชิงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

จึงสามารถพูดได้ว่า HR เทคโนโลยี เป็นนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานขององค์กรที่เชื่อมโยงกับพนักงาน การบริหารจัดการระบบเงินเดือน การสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ รวมถึงการเจริญเติบโตทางธุรกิจ

นิยามใหม่ของสถานที่ทำงานแห่งอนาคต เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยี ระบบการทำงานอัตโนมัติ (automation) รวมไปถึงวิธีการทำงานแบบใหม่กำลังสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้แก่ธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ จากผลการสำรวจของ World Bank ในประเทศไทยเอง การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน ถือเป็นกุญแจสำคัญของการเติบโต และการแข่งขันทางธุรกิจ

หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ก้าวขึ้นสู่ประเทศที่ทำรายได้มวลรวมได้สูงภายในปี 2580 การกระตุ้นการลงทุนและเร่งสร้างประสิทธิภาพ รวมถึงคุณภาพการทำงานของแรงงานมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

กระบวนการทำงานอัตโนมัติ และการใช้งานข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์สามารถยกระดับการทำงานของ HR ได้ เริ่มตั้งแต่กระบวนการสรรหาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ องค์กรต่าง ๆ สามารถสร้างกระบวนการทำงาน รวมถึงสถานที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่น เพื่อจุดมุ่งหมายของคนทำงานที่ประสบความสำเร็จได้ ด้วยการเปิดรับแนวความคิด และวิธีการทำงานของ HR รูปแบบใหม่

ในภาพรวมของการจ้างงานในปัจจุบัน องค์กรต่าง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความมั่นคงกับพนักงานทั้งในเชิงการทำงาน และทางด้านจิตใจ รวมไปถึงความต้องการส่วนบุคคลของพนักงานที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน องค์กรควรตระหนักว่าการรักษาพนักงานที่ดีให้ยังคงอยู่กับองค์กรต่อไปไม่สามารถวัดผลได้ผ่านตัวเลขคะแนนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การปลูกฝังวัฒนธรรมเชิงบวกภายในองค์กรมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

แต่การปลูกฝังวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งในองค์กรนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือความต้องการ และข้อจำกัดของแต่ละองค์กรที่แตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นสำหรับองค์กรที่จะต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการความแตกต่าง และสร้างแบบอย่างเฉพาะตัว


อย่างไรก็ดี ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน นายจ้างสามารถคาดการณ์ รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานในองค์กรได้ก่อนที่พวกเขาจะรู้ตัวเสียอีก