
คอลัมน์ : SD Talk
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัท เชฟรอน (ไทย) จํากัด และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) นำพนักงานกว่า 100 คน จากทั้ง 3 องค์กร ร่วมกิจกรรม “เชฟรอนสุขอาสา” (Together We Volunteer) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นร่วมกับศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ นครนายก ในพื้นที่ของ “อุไรวรรณ ใจสงัด” โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกป่า สร้างความรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งพนักงานเชฟรอน อาสาสมัครจากเครือข่ายอาสาศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ คนมีใจจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และตัวแทนชุมชนร่วมกันปลูกต้นไม้กว่า 500 ต้น ตามแนวคิด “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” หรือการปลูกไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และไม้เศรษฐกิจ
- พระราชินี เสด็จฯ ส่วนพระองค์ ทรงร่วมวิ่ง CIB RUN 2023 ระยะทาง 10 กิโลเมตร
- เปิดตัว “คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท กรุงเทพฯ สุวรรณภูมิ” ห่างสนามบิน 10 นาที
- พระราชินี ทรงนำทีมแข่งขันเรือใบนานาชาติ เข้าเส้นชัยอันดับ 1
ที่นอกจากจะช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวที่ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้คนในพื้นที่แล้ว ยังเป็นผืนป่าที่คนในชุมชนสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีกสิกรรมธรรมชาติ ที่นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการทำปุ๋ยชีวภาพ การทำน้ำยาล้างจาน และการทำน้ำยาอเนกประสงค์
“อรรจน์ ตุลารักษ์” รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายโครงการร่วมทุน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนดำเนินภารกิจสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยมากว่า 6 ทศวรรษ ด้วยเป้าหมายระยะยาวในการจัดหาพลังงานที่สะอาด ปลอดภัย และเชื่อถือได้ให้กับประเทศไทย เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของประเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่สะอาดมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ หรือ net zero
โดยกิจกรรมเชฟรอนสุขอาสาในวันนี้ เป็นการสนับสนุนให้พนักงานและชุมชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่จะช่วยทั้งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มความชื้นในอากาศ เพิ่มออกซิเจน และลดมลพิษในอากาศ
นอกจากการปลูกต้นไม้กว่า 500 ต้นในพื้นที่กว่า 30 ไร่ของคุณอุไรวรรณ บุคคลต้นแบบที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ของตัวเองให้เป็นป่าที่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้ชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการร่วมปลูก อนุรักษ์ และอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
“อาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์” ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ผู้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อเผยแพร่ความรู้ในด้านวิถีกสิกรรมธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวถึงการสานพลังความร่วมมือว่า ศูนย์ภูมิรักษ์ฯเน้นหลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติที่ช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
โดยที่ตั้งของศูนย์ภูมิรักษ์ฯเดิมเป็นผืนดินของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมุ่งพลิกผืนดินแห่งนี้สู่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ผ่านการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนได้เห็นความสำเร็จที่พิสูจน์ได้จริง
แน่นอนว่าการจะพัฒนาศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้นั้น ในฐานะผู้อำนวยการจึงมุ่งผสานพลังความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ส่วนราชการ ฝ่ายวิชาการ ภาคประชาชน และภาคเอกชนอย่างเชฟรอน ที่ได้ช่วยประสานงานต่าง ๆ ให้คล่องตัวยิ่งขึ้น
และท้ายที่สุดคือภาคสื่อมวลชน โดยหน้าที่ของเราคือการประสานงานทุกภาคส่วนให้ทำงานเคียงข้างกันเพื่อเผยแพร่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความยั่งยืนสู่สังคม สะท้อนความหมายของภูมิรักษ์ที่หมายถึงผืนแผ่นดินที่รักษาธรรมชาติจากรุ่นสู่รุ่น