
คอลัมน์ : SD TALK ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ https://tamrongsakk.blogspot.com
ก่อนจะคุยเรื่องนี้คงต้องมาตกลงเรื่องคำนิยามของ “หัวหน้า” กันเสียก่อนนะครับ
คำว่า “หัวหน้า” ของผม ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป หมายถึงคนที่มีลูกน้อง ไม่ว่าบริษัทจะตั้งชื่อตำแหน่งหัวหน้าว่าอะไรก็ตาม เช่น Leader, Supervisor, หัวหน้างาน, ผู้ช่วยผู้จัดการ, ผู้จัดการ, ผู้อำนวยการ, GM, VP ไปจนถึง กรรมการผู้จัดการ ก็ใช้คำว่า “หัวหน้า” นะครับ
บริษัทหลายแห่งมักจะตั้งคนขึ้นมาเป็นหัวหน้า เพราะมีอายุงานเยอะ อายุตัวมาก มีผลงานดีมีความรู้ และทักษะเรื่องงานดี บางครั้งก็ไปเลื่อนเอาคนที่เงินเดือนใกล้ตันให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้า เพราะจะได้แก้ปัญหาเงินเดือนตันก็เคยเจอ
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจะพบเห็นได้บ่อย ๆ คือ หลายบริษัทเลือกคนขึ้นมาเป็นหัวหน้าโดยไม่ได้ดูว่า คนคนนั้นมี Leadership มากหรือน้อยแค่ไหน, มี People Skill หรือไม่, มีทัศนคติต่องาน, ต่อเพื่อนร่วมงาน, ต่อองค์กร, ต่อการใช้ชีวิตเป็นยังไง
ทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ และมีผลกับความสำเร็จของทีมงานและองค์กร
แต่กลับถูกมองข้าม ?
ลองกลับมาคิดดูนะครับว่า ปัญหาที่เกิดในองค์กรนั้นส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอะไร ?
หัวหน้าที่ลูกน้องไม่ศรัทธา ไม่ยอมรับ ไม่เชื่อถือ คือหัวหน้าที่ไม่รู้งาน ขาดความรู้ทักษะในงาน ลูกน้องไปถามอะไรที่เกี่ยวกับงาน หรือไปขอความคิดเห็นหัวหน้าเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาในงาน แล้วหัวหน้าตอบไม่ได้น่ะ มีเรื่องแบบนี้มากน้อยแค่ไหน
เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาของหัวหน้าแบบนี้
หัวหน้าที่มีวาจาเป็นอาวุธ มีดาวพุธเป็นวินาศ จุดเดือดต่ำ ฟิวส์ขาดง่าย อารมณ์ร้าย โวยวายเสียงดัง ไม่เคยรับฟังลูกน้อง ทำดีไม่เคยจำ แต่ทำพลาดพี่ไม่ลืม ฯลฯ
หรือหัวหน้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูงหลายคนที่พอถึงช่วงขึ้นเงินเดือน และจ่ายโบนัส ก็เอาเรื่องเหล่านี้ไปนั่งเม้าท์มอยกับลูกน้องทำนองนี้
“น้อง…พี่ว่าบริษัทเราขึ้นเงินเดือนให้น้อยจังเลยนะ ดูสิตั้งหลายปีขึ้นเงินเดือนให้แค่เนี่ย โบนัสก็จ่ายแค่ 2 เดือนเอง บริษัทที่เพื่อนของพี่ทำงานอยู่เขาจ่ายกันมากกว่านี้อีก อย่างน้อย ๆ ก็ 3-4 เดือน สวัสดิการบริษัทเราก็ไม่ดีสู้คนอื่นยังไม่ได้เลย ฯลฯ”
เรียกว่างานหลักไม่ทำ งานประจำคือด่าบริษัท นินทาฝ่ายบริหาร แต่ที่น่าแปลกคือบริษัทไป Promote คนที่มีทัศนคติแบบนี้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าซะงั้น
แล้วควรทำไงดี ?
เรื่องนี้ผมเชื่อว่าถ้าคนที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทนั้น ๆ กลับมาคิดทบทวนวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้กับทาง HR (ที่เป็นมืออาชีพ) แล้วตั้งใจจะแก้ปัญหานี้จริง ๆ ก็จะทำได้ แม้จะใช้เวลาในการแก้ไขบ้าง แต่ถ้าไม่เริ่มคิดแก้ไขก็จะต้องเกิดปัญหาแบบวนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แหละครับ
และหวังว่าคงไม่มีคำตอบว่า วิธีแก้ปัญหานี้คือส่งหัวหน้าที่มีปัญหา People Skill หรือมีทัศนคติไม่ดีไปเข้าอบรม เพียงแค่นี้แล้วคิด (เอาเอง)
ว่า ปัญหานี้จะจบนะครับ
เพราะถ้าแก้ปัญหาได้แค่นี้ คงจะจบแบบสูญเปล่าทั้งเวลา และงบประมาณที่ส่งหัวหน้าเหล่านี้ไปเข้าอบรมแหละครับ