
คอลัมน์ : SD Talk ผู้เขียน : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
การพูดกันตรง ๆ เป็นเรื่องดี แต่บางครั้งหลายคนก็เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นคนพูดตรง แต่จริง ๆ แล้ว “พูดแรง”
ยกตัวอย่าง เช่น น้องในทีมทำงานผิดพลาดเพราะความไม่เข้าใจ แทนที่จะพูดว่า “พี่คิดว่าเธอเข้าใจผิด” กลับพูดว่า “เธอนี่โง่จริง ๆ อุตส่าห์อธิบายให้ฟังตั้งหลายรอบ ยังทำมาผิดอีก” เป็นต้น
เวลาผมไปทำหน้าที่เป็นโค้ชให้ผู้บริหาร หนึ่งในคำถามที่ใช้ในการเริ่มต้นบทสนทนาคือ “คุณคิดว่าอะไรเป็นข้อเสียที่ควรปรับปรุง” ผู้บริหารหลายคนมักบอกว่า ตนเองเป็นคนพูดตรงจนบางทีคนอื่นรับไม่ได้ แต่เชื่อไหมครับว่า 90% ของคนที่คิดว่าตัวเองพูดตรง มักเป็นคนพูดแรง
“พูดตรง กับ พูดแรง ไม่เหมือนกัน” พูดตรง คือ การบอกความรู้สึกที่ตัวเองมี โดยไม่ได้ใช้คำพูดย่ำยีให้คนอื่นรู้สึกแย่ลง ในทางตรงกันข้าม พูดแรง คือ การที่แม้จะไม่ได้ใช้คำพูดหยาบคาย แต่พูดแล้วทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าถูกด้อยค่า
การพูดแรง ไม่ได้ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี แต่อาจนำมาซึ่งความล่มสลายของทีมก็เป็นได้
ดังนั้นในฐานะหัวหน้า จึงต้องระมัดระวังการสื่อสารกับทีม เมื่อคุณต้องพูด ต้องให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) หรือติใครเพื่อก่อ ไม่ควรใช้คำสื่ออารมณ์ไม่พอใจหรือคำพูดที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าถูกโจมตี
หลักการง่าย ๆ ในการพูดให้ตรงแต่ไม่แรง คือ การใช้คำว่า “ผมหรือฉัน” (ภาษาอังกฤษเรียกว่า I-Message) โดยไม่มีคำว่า “คุณหรือเธอ” (You-Message) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการพูดแรงลงได้
ตัวอย่าง เช่น
เหตุการณ์ – พนักงานนำเสนอ แต่ฟังไม่รู้เรื่อง
พูดตรง (I-Message) : พี่ไม่เข้าใจในสิ่งที่นำเสนอ
พูดแรง (You-Message) : เธอพูดไม่รู้เรื่องเลย
เหตุการณ์ – พนักงานทำงานมาส่ง โดยงานที่ทำมาไม่ตรงกับที่สั่งไป
พูดตรง : งานที่ทำมาไม่ถูกต้อง ผมอาจจะอธิบายไม่ดีเอง
พูดแรง : คุณฟังภาษาคนไม่รู้เรื่องหรือไง
เหตุการณ์ – นัดกันแล้ว แต่ไม่มาตามนัด ไม่ตรงต่อเวลา
พูดตรง : ฉันอาจจะไม่ได้ย้ำอีกรอบว่าเรานัดกัน 8 โมง
พูดแรง : เธอช่างไม่มีความรับผิดชอบเอาซะเลย เรานัดกัน 8 โมง โผล่มาซะ 9 โมง
แต่การใช้ I-Message มีคำเตือนอย่างหนึ่ง คือ อย่าพูดให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรากำลังพูดประชดประชันหรือแดกดันเขา เพราะถึงแม้จะเป็น I-Message แต่อีกฝ่ายก็รู้สึกได้อยู่ดีว่าคุณกำลังด้อยค่าเขา เช่น
I-Message : พี่อาจจะโง่เอง เลยฟังไม่รู้เรื่อง
I-Message : ฉันคงมีสมองแค่นี้มั้ง เลยฟังไม่เข้าใจ
ลองไปฝึกดูนะครับ ใช้ทักษะผสมกับความจริงให้เข้ากัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารให้มากขึ้นได้