คอลัมน์ : SD Talk ผู้เขียน : บัญชา ธรรมรุ่งเรือง เฮกซ่าเทค โซลูชั่นส์
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ไม่สามารถช่วยให้องค์กร หรือบุคคลพัฒนาขีดความสามารถได้ หากผู้ควบคุมหรือบุคลากรที่ทำงานในองค์กรนั้นไม่เห็นคุณค่า และลงมือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามที่จำเป็น
เรียนรู้จากประวัติศาสตร์
แม้รายการ “8 Minutes History” ของ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน จะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ในความเป็นจริง มนุษย์ส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยเรียนรู้อะไรมากนักจากประวัติศาสตร์ สังเกตได้จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมาทั้งในเรื่อง Reengineering หรือ Digital Transformation ที่แม้จะมีความจำเป็น แต่กลับล้มเหลวในหลายองค์กร
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่มี “ยาวิเศษ” (Magic Pill) ที่สามารถทำให้ทุกอย่างสำเร็จได้อย่างยั่งยืน หากบุคลากรที่เกี่ยวข้องไม่พร้อมหรือไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง
Digital Transformation
ความสำเร็จของ Digital Transformation จำเป็นต้องมาควบคู่กับ Human Transformation และในทำนองเดียวกัน AI ต้องมาพร้อมกับ Human Intelligence (HI) เสมอ การละเลยด้านใดด้านหนึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงองค์กร
AI ทำให้พนักงานเบิร์นเอาต์
ผลสำรวจล่าสุดจาก Upwork Research Institute และ Workplace Intelligence เปิดเผยว่า ขณะที่องค์กรต่าง ๆ เร่งรีบในการนำ AI มาใช้ พนักงานกลับรู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้น โดย 77% ของผู้ตอบแบบสอบถามจากหลายประเทศ ระบุว่า มีภาระงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้ AI และ 39% ระบุว่า ต้องใช้เวลามากขึ้นในการตรวจทานหรือจัดการคอนเทนต์ที่สร้างโดย AI
นอกจากนี้ 23% ยังต้องใช้เวลามากขึ้นในการเรียนรู้การใช้เครื่องมือเหล่านั้น ผลที่ตามมาคือ 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าตัวเองกำลังเบิร์นเอาต์ และ 65% รู้สึกว่าตนเองต้องดิ้นรนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มผลิตภาพขององค์กร
รับมือ AI จุดเปลี่ยนสำคัญ
แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยอาจยังไม่รุนแรงนัก แต่ด้วยพัฒนาการของ AI และการเพิ่มขึ้นของเครื่องมือที่เข้าถึงง่าย จึงทำให้อัตราการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด องค์กรไทยจึงควรพิจารณานำ AI มาใช้ในกระบวนการทำงานต่าง ๆ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI ในสาย Machine Learning (ML) ที่สามารถช่วยองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างชัดเจน
No-Code AutoML : นวัตกรรมที่เปลี่ยนเกม
Profet AI สตาร์ตอัพจากไต้หวัน หนึ่งในพันธมิตรระดับโลกของ เฮกซ่าเทค โซลูชั่น (HexaTech Solutions) ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยี No-Code AutoML ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแมชีนเลิร์นนิ่งที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดหรือโปรแกรมเพื่อใช้งาน จึงไม่แปลกใจที่อัตราการใช้ AI ในองค์กรต่าง ๆ กำลังจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
AI Machine Learning ต่างจาก Generative AI อย่างไร ?
Chat GPT และเครื่องมือ AI อื่น ๆ ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยจัดอยู่ในหมวด Generative AI (Gen AI) ขณะที่ AI Machine Learning (AI ML) เป็นอีกแขนงหนึ่งของ AI ที่เน้นการเรียนรู้จากข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ AI ML สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัจจัยการผลิต การคาดการณ์ผลลัพธ์ ไปจนถึงการช่วยเสนอแนะตัวแปรที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
ประยุกต์ใช้ AI ML ในการทำงาน
AI ML มีศักยภาพในการนำไปใช้ในทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ตัวอย่างการใช้งาน ได้แก่
– การเพิ่มยอดขาย : วิเคราะห์ข้อมูลการซื้อในอดีตของลูกค้าเพื่อนำเสนอสินค้าที่ลูกค้าอาจสนใจ
– การตลาด : จัดทำ Segmentation หรือแคมเปญที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายโดยไม่ต้องทำ A/B Testing
– การบริหารทรัพยากรมนุษย์ : ค้นหาทาเลนต์ แนะนำแคนดิเดต ทำนายโอกาสการลาออก และความเหมาะสมกับตำแหน่งงาน
– การบริหารสินค้าคงคลัง : แนะนำระดับการสต๊อกสินค้าที่เหมาะสม
AI ML : นักเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด พลิกโฉมธุรกิจตลอดกาล
HexaTech Solutions และ Profet AI ได้นำแพลตฟอร์ม No-Code AutoML ไปใช้กับลูกค้ากว่า 200 รายในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจุดเด่นของ AI ML คือความสามารถในการเรียนรู้ที่ทำให้มันฉลาดขึ้นทุกวัน ส่งผลให้องค์กรสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพและผลลัพธ์ได้อย่างต่อเนื่อง
พร้อมก้าวนำคู่แข่งด้วย AI ML
หากองค์กรมีการนำ AI ML ไปใช้อย่างบูรณาการและเข้าใจโจทย์ของธุรกิจ พร้อมปรับเปลี่ยนทักษะของบุคลากร องค์กรจะสามารถก้าวข้ามการแข่งขันในยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง และถ้าไม่ก้าวตามเทคโนโลยี AI ก็อาจจะตกขบวนไปอย่างน่าเสียดาย
ที่มา : สัมมนา “AI Use Cases for Simulation & Business Results” จัดโดย HexaTech Solutions และ PacRim Group