คอลัมน์ : SD TALK ผู้เขียน : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
การเป็นหัวหน้าก็ต้องมีการให้เสียงสะท้อนกลับ (Feedback) ลูกน้องบ้างเป็นธรรมดา
เพราะเป้าหมายใหญ่คือการพัฒนา
แต่เชื่อไหมว่าบ่อยครั้งที่หัวหน้าเรียกมาให้ฟีดแบ็ก ลูกน้องกลับรู้สึกว่า “ถูกเรียกมาด่า”
ทำไมเป็นเช่นนั้น ?
ก็เพราะหัวหน้าหลายคน ขาดศิลปะในการให้สื่อสาร เลยทำให้ผู้ได้รับ ตีความไปเป็นอย่างอื่น
วันนี้มีเทคนิคการให้ฟีดแบ็กแบบเนียน ๆ ให้ลูกน้องฟังแล้วไม่รู้สึกว่า “ถูกด่า” มาฝาก
1.เรื่องที่จะฟีดแบ็กต้องชัดเจน ไม่ใช่ชักแม่น้ำมาทั้งห้าแต่ไม่รู้ว่าประเด็นคืออะไร ลูกน้องอาจเข้าใจผิด คิดว่าหัวหน้าแค่อยากระบายอารมณ์ มาฟังพี่ด่าแล้วก็จบไป
2.ควรมีเรื่องดี ๆ มาชื่นชมด้วย การฟีดแบ็กไม่ใช่เฉพาะการ “ติเพื่อก่อ” เพียงอย่างเดียว เมื่อทำดี เรียกมาชื่นชมก็เป็นการฟีดแบ็กอย่างหนึ่งเช่นกัน แต่หัวหน้าส่วนใหญ่มักละเลยข้อนี้ไป ทำดีก็เฉย ๆ แต่พอทำไม่ดี เรียกมาว่า ลูกน้องเลยคิดว่าการฟีดแบ็กคือการเรียกไปด่า…เป็นซะงั้น
3.อย่ารอจนลืม หากมีประเด็นเกิดขึ้นต้องรีบฟีดแบ็กทันที รีบเรียกมาคุย อย่ารอให้ผ่านไปเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เพราะอาจนานจนจำไม่ได้ กลายเป็นลูกน้องคิดว่าหัวหน้าหาเรื่องมาด่า เรื่องจบไปนานแล้วแต่พี่ไม่ยอมจบ ยังจำฝังใจ แค้นฝังหุ่น พูดแล้วพูดอีก ซ้ำซากจำเจ พูดจนลูกน้องหมดใจ
4.เรียนรู้ที่จะใช้คำว่า “ฉัน” (I message) มากกว่า “คุณ” (You message) เวลาจะตำหนิใคร หลีกเลี่ยงการพูดว่าเขาไม่ดีตรงไหนอย่างไร แต่ให้บอกความรู้สึกที่เรามีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแทน เช่น แทนที่จะพูดว่า “คุณพูดไม่รู้เรื่อง” เปลี่ยนเป็น “พี่ฟังไม่เข้าใจ” แทนที่จะพูดว่า “เธอไม่มีความรับผิดชอบ” เปลี่ยนเป็น “ผมผิดหวังมากที่งานไม่เสร็จตามที่เราตกลงกัน” ? เป็นต้น
5.ฟังลูกน้องด้วย อย่าพูดอยู่คนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ให้ฟังด้วยว่าเขาคิดอย่างไร จะได้เข้าใจตรงกัน เพราะคุณกับเขาอาจเข้าใจไปคนละทิศละทาง ก็เป็นได้
6.ให้กำลังใจ ปิดท้ายด้วยคำพูดเชิงบวกและเชื่อมั่นว่าเขาสามารถปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นและเก่งขึ้นได้ เพื่อเป็นกำลังใจ อย่าปิดด้วยแรงผลักดันทางลบ เช่น ถ้าทำไม่ได้ก็คงต้องพิจารณาตัวเอง เป็นต้น อาจทำให้หมดใจ ไม่เคารพ ไม่ไว้ใจ และอาจจบลงด้วยการลาออกไป
หัวหน้าต้องมองว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่ต้องแก้ไขและจุดอ่อนสามารถพัฒนาได้ อย่าใช้อารมณ์นำเหตุผล แล้วลูกน้องจะเข้าใจว่าคุณฟีดแบ็กเพราะความหวังดี ไม่ใช่เพราะแค่อยากจะด่า เท่านั้น