ปริญญาไม่ใช่ใบเบิกทาง (อีก) แล้ว …ทักษะต่างหากที่สำคัญกว่า

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : พิชญ์พจี สายเชื้อ

วันก่อนอ่านข่าวว่า 23% ของบัณฑิต MBA จากฮาร์วาร์ดรุ่นปี 2024 ยังคงไม่มีงานทำ 3 เดือน หลังจบการศึกษา

นี่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับอัตราการได้งานที่เกือบ 100% ตามปกติของปีก่อน ๆ

ซึ่งน่าแปลกใจและน่าสนใจมาก เพราะที่ผ่านมาการจบปริญญาจาก “มหาลัยท็อปเทน” คือการการันตีอนาคตของคนคนหนึ่งเลยทีเดียว

เวลานี้เปลี่ยนไปแล้ว แม้ว่าการศึกษายังคงมีคุณค่า แต่ว่าบริษัทต่าง ๆ ก็เริ่มตระหนักถึงความจริงง่าย ๆ ว่า

…ทักษะต่างหากเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนความสำเร็จได้จริง ๆ

การเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า “การจ้างงานที่เน้นทักษะ” ซึ่งกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการจัดการบุคลากรทั้งการจ้างงานและการพัฒนาคน

ADVERTISMENT

คิดดูสิคะว่า เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทักษะใหม่ ๆ มีขึ้นทุกวัน ในขณะที่ทักษะเก่ากำลังล้าสมัยในชั่วข้ามคืน

เรื่องนี้สร้างปัญหาให้กับบริษัทที่พยายามหาคนที่เหมาะสม โดยการจ้างงานแบบเดิม ๆ ที่เน้นปริญญาเพียงอย่างเดียว บ่อยครั้งจะพลาดเป้าหมาย ลองนึกภาพดู

ADVERTISMENT

เหมือนกับการจ้างพ่อครัวที่มีประกาศนียบัตรจากโรงเรียนทำอาหารชื่อดัง ซึ่งไม่การันตีว่าเขาจะทำอาหารอร่อยเท่ากับคนที่ทำมานาน ๆ จาก “ประสบการณ์จริง” และ “มีทักษะที่เหมาะสม”

ที่สำคัญ เข้าใจความต้องการของคนกิน (เนื่องจากทำมานาน)

ขณะนี้บริษัทใหญ่อย่าง Procter & Gamble กำลังนำหน้าในทิศทางนี้

P&G บริษัทข้ามชาติที่ขายสินค้าหลายสิ่งอัน เป็นผู้บุกเบิกในการ “จ้างงานที่เน้นทักษะ”

พวกเขาเข้าใจว่าปริญญาเป็นพื้นฐาน แต่มันไม่ได้รับประกันทักษะเฉพาะที่จำเป็นในความเจริญก้าวหน้า ที่ P&G พวกเขาต้องการคนที่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำทีม-ทักษะที่ไม่ได้สอนในห้องเรียนเสมอไป

P&G มักประสบปัญหาในการหาผู้สมัครที่มีทักษะทางเทคนิคเฉพาะสำหรับตำแหน่งเฉพาะด้าน

เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลและการตลาดดิจิทัล การพึ่งพาปริญญาเพียงอย่างเดียวจำกัดการเข้าถึงกลุ่มผู้ที่มีทักษะที่หลากหลาย และทำให้ยากที่จะตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ทัน

ดังนั้น P&G แก้ปัญหาด้วย “การปรับกระบวนการจ้างงานใหม่” เพื่อให้ความสำคัญกับทักษะ พวกเขาใช้การประเมินผล การจำลองสถานการณ์ และการสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรมในการประเมินสิ่งที่ผู้สมัครสามารถทำได้จริง

พวกเขายังลงทุนอย่างมากในการฝึกอบรมและพัฒนา เพื่อให้พนักงานปัจจุบันของพวกเขามีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และก้าวหน้าต่อไป

ผลลัพธ์ที่ได้รับในแนวทางที่เน้นทักษะของ P&G เป็นสิ่งที่เปลี่ยนเกมแพลนเลยทีเดียว พวกเขาสามารถดึงดูดและจ้างบุคคลที่มีทักษะจากพื้นหลังที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำความรู้ความสามารถมาขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจที่แท้จริง และสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง

สรุปสั้น ๆ ว่า ขบวนการ “ทักษะเหนือปริญญา” ไม่ใช่เพียงแค่เทรนด์นะคะ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในการจ้างงานและพัฒนาพนักงานเลยทีเดียว

โดยเน้นให้ความสำคัญกับ “สิ่งที่คนสามารถทำได้” มากกว่าปริญญา

ซึ่งบริษัทอย่าง P&G พิสูจน์แล้วว่าแนวทางนี้ได้ผล และบริษัทของคุณล่ะคะจะเดินหน้าต่อไปยังไง ท่ามกลางความผันผวน ความไม่แน่นอนในอนาคต ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อ “ทักษะ” ในการทำงาน

ฝากไว้ให้ “ชวนคิด” กันต่อไปนะคะ