เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการลากิจ

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

ก่อนหน้านี้ ผมพูดเรื่องของ 9 มายาคติเกี่ยวกับการลาป่วยไปแล้ว ในอีพีนี้ก็จะมาพูดถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการลากิจต่อไปเลยนะครับ

1.บริษัทต้องจัดให้พนักงานมีสิทธิลากิจเพื่อธุระอันจำเป็นได้ไม่น้อยกว่าปีละ 3 วัน ถ้าบริษัทไหนจะให้สิทธิลากิจพนักงานมากกว่านี้ก็ได้ไม่ว่ากัน

2.บริษัทมีสิทธิจะกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดของการลากิจให้ชัดเจนในข้อบังคับการทำงานได้ เช่น

2.1 การใช้สิทธิลากิจต้องเป็นกิจธุระที่จำเป็นต้องไปทำด้วยตัวเองไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้ เช่น ลากิจเพื่อไปแต่งงาน, ลากิจเพื่อไปโอนที่ดิน, ลากิจเพื่อไปรับปริญญา, ลากิจเพื่อไปบวชทดแทนคุณบิดามารดา, ลากิจเพื่อไปจัดการงานศพบุพการี ฯลฯ

2.2 ห้ามใช้สิทธิลากิจนอกเหนือจากข้อ 2.1 เช่น ลากิจเพื่อไปเที่ยว

2.3 พนักงานต้องขออนุมัติลากิจล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพราะการลากิจสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ ไม่ใช่ว่าวันนี้หายไปไม่บอกไม่กล่าว พอวันรุ่งขึ้นก็มายื่นใบลากิจ อย่างนี้หัวหน้าก็มีสิทธิไม่อนุมัติได้เพราะไม่ทำตามระเบียบเรื่องการลากิจ เว้นแต่ในข้อเท็จจริงคือเมื่อวานบิดามารดาป่วยกะทันหันต้องนำส่งโรงพยาบาลก็เลยต้องดูแลการนำส่งโรงพยาบาลเพราะเป็นเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

ADVERTISMENT

2.4 บริษัทจะจ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่พนักงานได้รับอนุมัติให้ลากิจ แต่ถ้าหากพนักงานไม่ได้รับการอนุมัติแล้วไม่มาทำงาน บริษัทจะถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรจะถือเป็นความผิดทางวินัย และจะถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบริษัทจะไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ขาดงานนั้น (No work no pay)

3.หากพนักงานใช้สิทธิลากิจจนหมดแล้ว แต่มีความจำเป็นต้องลากิจ บริษัทจะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปตามความจำเป็น และอาจถือเป็นการลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave without pay) โดยต้องปฏิบัติตามข้อ 2

ADVERTISMENT

4.คนที่เป็นหัวหน้าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบการลากิจด้วย ไม่ใช่พอลูกน้องยื่นใบลากิจ+พักร้อนเพื่อไปเที่ยว หัวหน้าก็รู้อยู่แก่ใจ แต่อนุมัติให้ลูกน้องลากิจเพื่อไปเที่ยว อย่างนี้ก็จะทำให้เกิด Me too สำหรับลูกน้องคนอื่น และเป็นปัญหาในการบังคับบัญชาต่อไป

เมื่อมีระเบียบการลากิจและปฏิบัติตามเงื่อนไขการลากิจตามที่ผมฝอยมานี้แล้ว ก็เชื่อว่าปัญหาดราม่าเกี่ยวกับการลากิจก็น่าจะลดลงแล้วนะครับ