มุมมองประเมินสถานศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพปี’67-71

คอลัมน์ : SD talk
ผู้เขียน : ดร.รัตติกร ทองเนตร 
ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญมากๆ ในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา

ซึ่งทำโดยการผ่านประเมินคุณภาพภายนอก เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การศึกษาไทยมีมาตรฐานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567-2571

สมศ.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกที่เหมาะสม โดย สมศ. มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการให้ข้อเสนอแนะ

เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สถานศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาที่ดีและได้มาตรฐานจริงๆ

ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนการประกันคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้นั้น สถานศึกษาจะต้องมีการบูรณาการการประกันคุณภาพภายในและภายนอกให้เป็นเสมือนงานเดียวกัน

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ได้มีการจัดโครงการที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานการประกันคุณภาพของสถานศึกษา เช่น โครงการส่งเสริมพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อให้การประกันคุณภาพภายในเข้มแข็ง

รวมถึงสื่อสารแนวทางการขับเคลื่อนให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะประสบความสำเร็จและเดินหน้าไปพร้อมกัน

ADVERTISMENT

ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของการประกันคุณภาพของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ศรีสะเกษ – ยโสธร) คือ การที่บุคลากรในพื้นที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่ม ประธานสหวิทยาเขตทั้ง 12 แห่ง และผู้บริหารทุกสถานศึกษาทั้ง 83 แห่งในพื้นที่ ต่างถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพให้มีประสิทธิภาพ

พร้อมกับจัดประชุมในรูปแบบ Online ให้กับสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในแต่ละมาตรฐานและตัวชี้วัด ว่าจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง

สถานศึกษาต้องเขียนรายงานอย่างไรที่จะให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจน พร้อมให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันว่าทำอย่างไรให้งานที่สถานศึกษาดำเนินการอยู่แล้ว ให้เป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือเป็นแบบอย่างที่ดี ตลอดจนสิ่งที่จะนำมาประกอบในการประเมินในแต่ละมาตรฐาน และตัวชี้วัดว่าจะต้องมีอะไรบ้าง

ควบคู่ไปกับการให้ศึกษานิเทศก์รับผิดชอบไปนิเทศสถานศึกษาแบบบูรณาการ เป็นพี่เลี้ยง ช่วยเหลือ และดูแลสถานศึกษาว่า ในแต่ละตัวชี้วัด สถานศึกษาสามารถดำเนินการได้ถึงระดับไหน

พร้อมกับให้ศึกษานิเทศก์ดูแลว่าสถานศึกษานั้นๆ จำเป็นต้องเพิ่มเติมสิ่งใดให้ครบถ้วน โดยไม่ต้องทำอะไรใหม่เนื่องจากเป็นสิ่งที่สถานศึกษาได้ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว จึงเป็นการง่ายต่อการพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ.

สิ่งสำคัญคือ สถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องบูรณาการร่วมกันในเรื่องของการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก โดยทำให้เป็นกิจวัตร

พร้อมทั้งนำนวัตกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว

หากสถานศึกษามีคุณภาพก็จะทำให้บุคลากรในสถานศึกษามีคุณภาพ และสามารถสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และเป็นคนมีคุณภาพได้

หากเรามีผู้เรียนที่มีคุณภาพจำนวนมากๆ ก็จะเป็นฟันเฟืองใหญ่ในการขับเคลื่อนประเทศชาติและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป