AI ไม่ใช่วายร้าย หากใช้ถูกวิธี

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : รศ.ดร.ดิเรก ธีระภูธร รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยพะเยา

AI หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ปัญญาประดิษฐ์” เป็นเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาเหมือนมนุษย์

การทำงานของ AI ดูเหมือนจะจำลองความฉลาดของมนุษย์เป็นที่ตั้ง สามารถจดจำภาพ เขียนบทกวี และคาดการณ์ตามข้อมูลได้

ทุกวันนี้องค์กรสมัยใหม่ต่างรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลจากแหล่งที่มาหลากหลาย เช่น เซ็นเซอร์อัจฉริยะ เนื้อหาที่มนุษย์สร้างขึ้น เครื่องมือตรวจสอบ ข้อมูลบันทึกระบบต่าง ๆ ได้ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและใช้การวิเคราะห์นั้นมาเป็นเครื่องมือช่วยให้ธุรกิจมีประสิทธิผลมากขึ้น

ตัวอย่าง AI สามารถตอบสนองการสนทนาของมนุษย์ในการสนับสนุนลูกค้า สร้างภาพ และข้อความต้นฉบับสำหรับการศึกษา การตลาดได้ ทั้งให้คำแนะนำอย่างชาญฉลาดสำหรับการวิเคราะห์

AI ทำให้ซอฟต์แวร์ฉลาดขึ้นสำหรับการโต้ตอบกับผู้ใช้ที่กำหนดเอง เป็นการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนให้ดูง่ายขึ้น

เทคโนโลยี AI มีหลายประเภท ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแอปและเทคโนโลยี AI เพิ่มขึ้นมาก เราสามารถดูตัวอย่าง AI ที่พบเจอบ่อยได้จากการสร้างภาพ การสร้างข้อความ การสร้างและการจดจำคำพูด AI จึงมีหลายรูปแบบ

ADVERTISMENT

ต้องยอมรับว่า คนคิดค้น AI มีความอัจฉริยะจริง ๆ และมีความพยายามอย่างยาวนาน

ในเอกสารของ Alan Turing จากปี ค.ศ. 1950 เรื่อง “Computing Machinery and Intelligence” เขาตั้งคำถามว่า เครื่องจักรสามารถคิดเองได้หรือไม่ ซึ่งในบทความนี้ Turing ได้บัญญัติคำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมนำเสนอเป็นแนวคิดทั้งทางทฤษฎีและปรัชญา

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม AI อย่างที่เราทราบในปัจจุบันเป็นผลมาจากความพยายามร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจำนวนมากในช่วงหลายทศวรรษ เราจึงต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งใช้ให้เป็นและใช้ให้ถูกต้อง

เพราะโลกทุกวันนี้ ในทุกวงการ ทั้งธุรกิจ ลงทุน การศึกษา หรืออะไรก็แล้วแต่ เรื่องของ AI เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพล เป็นกระแสหรือเทรนด์ที่มาแรง

ส่วนตัวผมแบ่งความคิดเห็นออกเป็น 2 ด้านครับ หากเราใช้ AI ในการทำงานในด้านที่ถูกที่ควรและตรวจสอบให้ดี ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก

แต่หากนำไปใช้ทำรายงาน-ทำวิทยานิพนธ์ โดยที่ไม่ได้นำมาแก้ไขเอง สิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก

ในมุมของผม ในฐานะเป็นนักการศึกษาสามารถใช้ AI ได้ในการทำโครงร่าง แต่ส่วนรายละเอียดเราต้องทำเอง

อาทิ ทำหนังสือสักหนึ่งเล่ม ผมเคยลองโหลดมาใช้ดูทั้ง 4 โปรแกรม ทั้งแบบใช้ฟรีและแบบเสียเงิน สั่งให้เขียนโครงร่างหนังสือการบริหารการศึกษา โปรแกรมก็จะเขียนสารบัญโครงร่างมาต่างกัน 4 แบบ เราสามารถนำมาผนวกเข้ากันได้ และพอนำมาผนวกกันมันดูสวยมาก

จากนั้นเราจึงค่อยนำมาเพิ่มเติมเสริมแต่งในส่วนของรายละเอียด แล้วค่อยค้นหาข้อมูลอีกรอบหนึ่งเพื่อนำมาผนวกรวมกัน และส่วนของรายละเอียดให้เขียนเองถึงจะเป็นประโยชน์มากที่สุด

ที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะเอา AI มาใช้โดยตรง และใช้ในการเรียนการสอนด้วย

เพราะเป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะมีการพูดคุยเพื่อขยายผลไปยังคณะอื่น ๆ ในเร็ววัน

สำหรับส่วนของหุ่นยนต์ผ่าตัดทางการแพทย์ ปัจจุบันยังใช้อาจารย์หมอควบคุมดูแลใกล้ชิด เพราะยังต้องมีการพัฒนาอีกสักพักใหญ่

ส่วนเรื่องอื่น ๆ เราพยายามนำ AI เข้ามาใช้ทั้งหมด เพราะมหาวิทยาลัยพะเยา มีพันธกิจข้อที่ 5 ที่กล่าวไว้ว่า “ใช้เทคโนโลยีเพื่อประสิทธิภาพ เพื่อการงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ครับ”