ประเมินการศึกษาออนไลน์ มาตรฐานแข่งขันระดับอาเซียน

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ศ.ดร.องอาจ นัยพัฒน์ 
ผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา

ผมได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา” หรือ สมศ. ตามคำสั่งคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ที่ 3/2568 โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2568 เป็นต้นมา

หลังจากเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ผมได้เร่งขับเคลื่อนบทบาทและหน้าที่ของ สมศ.ในทันที โดยภารกิจลำดับต้น ๆ คือการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้ในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)

ซึ่งอยากเน้นย้ำเรื่อง “แนวคิดและทิศทางการประกันคุณภาพภายนอก” ว่าการประกันคุณภาพภายนอกไม่ใช่เป็น “การตรวจสอบ” แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณภาพการศึกษาของไทยเผชิญกับความท้าทาย ทั้งจากความแตกต่างของบริบทในเมืองและชนบท รวมถึงการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

หลักการสำคัญของ (ร่าง) กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกที่จะนำมาใช้ในสถานศึกษาสังกัด สกร. มีเป้าหมายหลักคือ “การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)” มากกว่าการมุ่งเน้นเพียงการตรวจสอบและให้คะแนน

หนึ่งในข้อสังเกตสำคัญของระบบการประกันคุณภาพในอดีตคือ การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานและตัวชี้วัดบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างภาระให้สถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ การประเมินคุณภาพภายนอกปี 2567-2571 สมศ.จึงมุ่งพัฒนาเกณฑ์การประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษาที่สอดคล้องกับเกณฑ์การประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ปรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จาก Paper-Based สู่ Digital-Based

รวมถึงปฏิรูปการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา โดยลดทอนจำนวนวันในการประเมินเหลือเพียง 1-2 วัน ตามบริบทของสถานศึกษา

ADVERTISMENT

พร้อมนำรูปแบบการประเมินแบบ Virtual Visit (การประเมิน Online) เพื่อลดภาระของสถานศึกษาในการจัดเตรียมเอกสารและการตอบรับต่าง ๆ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการประกันคุณภาพให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างยั่งยืน

โดยการประกันคุณภาพภายนอก จะเป็นหลักประกันให้ผู้เรียนและสังคมมีความมั่นใจว่าจะได้รับบริการจากสถานศึกษาที่ได้มาตรฐาน และเป็นการช่วยให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณภาพการศึกษาของไทยเผชิญกับความท้าทาย ทั้งจากความแตกต่างของบริบทในเมืองและชนบท รวมถึงการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้ครับ