Market-think: เงินเฟ้อออออ

เงินบาท
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

เราเจอกับวิกฤติโควิดมา 2 ปีกว่าแล้ว

ทุกประเทศล้วนเจอมรสุมเศรษฐกิจ

มากน้อยแตกต่างกัน

ปี 2562 เศรษฐกิจยังดีอยู่ พอเข้าปี 2563 เจอโควิด เศรษฐกิจทุกประเทศซบเซาย่ำแย่กันแบบพร้อมเพรียงกัน

แต่ตอนนี้ฟื้นตัวกันแล้วครับ

GDP ของแต่ละประเทศเริ่มโงหัวขึ้น กลับมาสูงกว่าปี 2562 ปีก่อนที่จะเกิดโควิด

แต่มี 3 ประเทศในโลกที่ GDP ยังต่ำกว่าปี 2562

ประเทศแรก อิตาลี

ประเทศที่สอง ญี่ปุ่น

และประเทศที่สาม ประเทศไทย

ถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมากที่ไทยอยู่ในระนาบเดียวกับ “ญี่ปุ่น” มหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลก

ครับ เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัว เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในโลกถือว่าฟื้นตัวช้ามาก

และยิ่งมาเจอกับปัญหาเงินเฟ้ออีก

ถ้า “เงินเฟ้อ” เกิดจากเศรษฐกิจดี ดีมานด์เพิ่ม แบบนี้การขยับดอกเบี้ยของแบงก์ชาติจะช่วยลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้

แต่ถ้าเงินเฟ้อมาจากต้นทุนสินค้าสูงขึ้น และประเทศนั้นเศรษฐกิจไม่ดี

การขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งซ้ำเติม เพราะเพิ่มต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า

ตอนนี้นักธุรกิจกำลังเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก 2 ตัว

คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าไฟฟ้าที่กำลังจะขึ้นราคา

ถ้าขึ้นตามอัตราที่การไฟฟ้าฯเสนอมา คือ ขึ้นจากหน่วยละประมาณ 3.79 บาท เป็น 4.72 บาท

รับรองว่าราคาสินค้าจะขยับขึ้นอย่างมโหฬารอีกรอบหนึ่ง

ไม่ใช่แค่ต้นทุนของการผลิตสินค้าเท่านั้น

ต้นทุนการจัดจำหน่ายก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ผมเพิ่งรู้ว่าค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศรายหนึ่งเสียค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท

ถ้าค่าไฟเพิ่มขึ้น 10% ก็คือ 400 ล้านบาท

20% ก็ 800 ล้านบาท

ดังนั้น ค่าวางสินค้าก็คงต้องขยับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การที่รัฐบาลสั่งเบรกไม่ให้ประกาศขึ้นค่าไฟฟ้า เพราะคงมองออกว่าค่าไฟฟ้านั้นกระทบทุกระดับ

ตั้งแต่ธุรกิจจนถึงชาวบ้านทั่วไป

เขาคงกลัวเป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งบอกว่า การที่ปล่อยให้ “เงินเฟ้อ” ร้อนแรงไปเรื่อย ๆ

ในทางจิตวิทยา จะทำให้สินค้าทุกอย่างขึ้นราคาแบบตามใจฉัน

ไม่ได้ขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง

เพราะเงินเฟ้อนาน ๆ ทำให้ผู้บริโภคยอมรับแบบหมดอาลัยตายอยาก

เหมือนเชื่อไปแล้วว่าสินค้าทุกอย่างต้นทุนเพิ่มขึ้น

การขึ้นราคาเป็นเรื่องปกติธรรมดา

เราจึงเห็นราคาอาหารที่ขยับขึ้นแบบไม่สนใจต้นทุนแท้จริง

จาก 45 เป็น 60 บาทเฉย ๆ เลย

เพิ่มขึ้น 33% แบบไม่ต้องอธิบายอะไรมาก

นักเศรษฐศาสตร์นั้นกลัวเรื่อง “เงินเฟ้อ” มาก

เขาบอกว่า “เงินเฟ้อ” ร้ายแรงกว่าเศรษฐกิจอ่อนแอ

อยู่นานยิ่งน่ากลัว

เหมือนกับ “คน”

อยู่ใน “อำนาจ” นานเกินไป ยิ่งน่ากลัว

8 ปีคิดว่านานไหมครับ

ผมตั้งคำถามเฉย ๆ

ไม่ได้ไล่นะครับ