Market-think: ยืดหยุ่น

น้ำท่วม
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ช่วงนี้คนกรุงเริ่มใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ อีกครั้ง เมื่อฝนตกต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน

น้ำเริ่มท่วมขังตามถนนและซอยต่าง ๆ ยาวนานขึ้น

จากเดิมที่ท่วมแค่แป๊บเดียวก็ระบายหมด

ท่วมดึก ๆ เช้าแห้ง

แต่พอเจอฝนตกต่อเนื่องไม่หยุด น้ำในคลองเริ่มใกล้เต็มตลิ่ง

สถานการณ์น้ำท่วมใน กทม.จึงเริ่มหนักหนาสาหัสขึ้น

จนต้นสัปดาห์นี้เริ่มท่วมจริงจัง

ที่สำคัญฝนล็อตนี้โหดมาก เพราะเลือกตกช่วงเย็นตอนเลิกงานตลอด

การจราจรในบางจุดจึงแทบเป็นอัมพาต

กลายเป็น “นรก” ของ “คนกรุง” อย่างแท้จริง

แม้เรื่องน้ำท่วม-รถติด จะเป็นปัญหาประจำของคนกรุง

แต่เชื่อเถอะครับ ใครที่เจอหนัก ๆ แบบคนที่รถติดที่แจ้งวัฒนะ 3 ชั่วโมง

หรือต้องยืนรอคิวรถตู้ที่สวนจตุจักรยาวเหยียดล้นขึ้นไปบนบันไดบีทีเอส

หรือต้องเดินลุยน้ำในซอยเข้าบ้านเพราะไม่มีรถ

เจอช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้สักครั้งเดียว

จะจดจำและหวาดกลัวไประยะหนึ่งเลย

แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป

ยังต้องเดินทางไปทำงานตอนเช้า และกลับบ้านตอนเย็นเหมือนเดิม

เพียงแต่เวลาที่ใช้ในการเดินทางเพิ่มขึ้น

บางคนต้องใช้เวลาไป-กลับเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็นเกือบ 4 ชั่วโมงบนท้องถนน

ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน เจ้าของบริษัทหรือผู้บริหารก็คงจะได้แต่แสดงความเห็นใจและให้กำลังใจ

เพราะไม่รู้จะช่วยอย่างไร

แต่วันนี้หลังจากผ่าน “โควิด” มา 2 ปี

แทบทุกบริษัทเคยผ่านการ work from home มาแล้ว

แม้จะต้องทำเพราะถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องทำ

ตอนนั้นเครื่องมือก็ไม่พร้อม

พนักงานก็ไม่คุ้นเคยกับการประชุมออนไลน์

แต่สุดท้ายก็ทำกันได้

ประสิทธิผลของการทำงานแบบ WFH มีบางบริษัทบอกว่า ดีมาก แต่บางแห่งก็บอกว่า ทำงานแบบเดิมดีกว่า

นั่นคือ เหตุผลที่แต่ละบริษัทเริ่มเรียกคนกลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม

แต่ยังมีหลายบริษัทเปิดช่องเรื่อง WFH ไว้ด้วย

วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้น่าจะเป็นการทดลองเรื่อง “ความยืดหยุ่น” ขององค์กรที่ดีมาก

เมื่อรู้ว่าพนักงานต้องเผชิญกับนรกบนถนนยาวนานในแต่ละวัน

ทำไมบริษัทไม่ปรับให้พนักงานบางส่วน WFH บ้าง

ให้ WFH แค่ 1-2 วัน ช่วงน้ำท่วม รับรองว่าพนักงานจะมีความสุขมาก

เอาไปคุยข่มเพื่อน ๆ ในบริษัทอื่นได้เลยว่า บริษัทนี้ใจดี เข้าใจพนักงาน

ถามว่า ทำแบบนี้จะมีความเสี่ยงเรื่องตัวงานไหม

คำตอบ คือ “ไม่”

เพราะทุกบริษัทได้ทดลองทำจริง ๆ มาแล้ว 2 ปี

ทำตอนนี้ในวันที่มีความพร้อมมากกว่าตอนโควิด

ยังไง งานก็เดินไปได้ ไม่เลวร้ายแน่นอน

แต่ผลลัพธ์ทางใจที่จะได้ รับรองว่าคุ้มมาก

ลองนึกถึงพนักงานที่ตื่นเช้ามา ต้องภาวนาว่า น้ำอย่าท่วม รถอย่าติด เพราะถ้าน้ำท่วมอาจต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการเดินทาง

ตอนกลับบ้านก็แบบเดียวกัน

แต่บริษัทใจดี ประกาศให้ทำงานที่บ้านได้ ไม่ต้องเผชิญกับนรกบนถนน 2 ชั่วโมง

คุณคิดว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร

ตอนเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น มีบางบริษัทประกาศให้เงินค่าครองชีพพิเศษแก่พนักงาน

กลายเป็นเรื่องที่พนักงานบริษัทอื่น ๆ อิจฉา

ให้เงินพนักงาน บริษัทต้องควักกระเป๋าจ่าย

แต่ WFH คือ การให้ “เวลา” แก่พนักงาน

บริษัทไม่ต้องควักกระเป๋าสักบาทเดียว

แค่เปลี่ยนเวลาของพนักงานจากที่อยู่บนท้องถนนซึ่งเปรียบเหมือนอยู่ใน “นรก”

มาเป็น “สวรรค์” เพราะทำงานที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางฝ่าน้ำท่วม

“เวลา” เป็นของมีค่าไม่แตกต่างจาก “เงิน”

แต่การเลือกให้ “เวลา” ในจังหวะที่เหมาะสม

มีคุณค่าทางใจมากกว่าการให้เงินเสียอีก

ไม่เชื่อ ลองทำดูได้ครับ