คุ้กกี้เสี่ยงทาย

คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์


ผมเชื่อว่าตอนนี้เพลง “คุ้กกี้เสี่ยงทาย” เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของหลาย ๆ คน

บางคนเผลอ ๆ ก็ฮัมเพลงนี้ขึ้นมา

หรือเปิดเฟซบุ๊กทีไรก็จะต้องเจอเพื่อนคนใดคนหนึ่งพูดถึงเพลงนี้

บางคนหนักกว่าเพราะสามารถเต้นตามเพลง “คุ้กกี้เสี่ยงทาย” ได้ด้วย

ตอนนี้ต้องยอมรับว่ากระแส BNK48 มาแรงมาก

แรงจนน่าตกใจ

ถ้าวัดกระแสความแรง ต้องบอกว่าค่อยเป็นค่อยไป

ไม่ใช่ “สึนามิ” แบบ The Mask Singer ที่เปิดตัวก็แรงเลย

แต่ค่อยเป็นค่อยไปของ BNK48 ก็เป็นไปตามกฎของ “มัวร์”

คือ ไม่ใช่ค่อย ๆ ไต่กราฟขึ้นไป

แต่เป็นการเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

กระแสวันนี้เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว

เวลาไม่ถึง 1 เดือน ความแรงของ BNK48 ทะยานขึ้นเร็วมาก

แม้ผมจะติดตามปรากฏการณ์ BNK48 มาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ยังนึกไม่ถึงว่าศิลปินกลุ่มนี้จะมาได้ไกลขนาดนี้ในเวลาสั้น ๆ

ผมบอก “ต้อม” จิรัฐ บวรวัฒนะ บอสใหญ่ของ BNK48 ว่า “จุดตัด” ที่ผมถือว่า BNK48 ติดลมบนแล้วก็คือ วันที่ศิลปินดังค่ายแกรมมี่นำเพลงนี้มาร้องและเต้น

เริ่มจาก “แก้ม-โดม เดอะสตาร์” และ “ปาล์ม Instinct” นำเพลง “คุ้กกี้เสี่ยงทาย” ไปร้องและเต้นในรายการหนึ่ง

ตามมาด้วย “ออฟ ปองศักดิ์-ว่าน-ป๊อบ-โอ๊ต ปราโมทย์” ใช้เพลงนี้ในการแถลงข่าวคอนเสิร์ตของเขา

ถ้าไม่แรงจริง “แกรมมี่” ไม่เล่นหรอกครับ

ตอนนี้ BNK 48 เนื้อหอมมาก

รายการต่าง ๆ ก็เชิญไปออกรายการ

สื่อสำนักต่าง ๆ แย่งคิวสัมภาษณ์ทั้งผู้บริหารและศิลปิน

มีสินค้าหลายตัวติดต่อน้อง ๆ BNK48 ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์

หนังใหม่ค่าย GDH และซีรีส์ก็มีน้อง ๆ ไปเล่น

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ BNK48 ขึ้นมา

ในมุมธุรกิจน่าศึกษามากนะครับ

เพราะถ้ามองในมุมธุรกิจเพลง

ธุรกิจเพลงกำลังโดน disrupt อย่างรุนแรง

“เพลง” ยังอยู่ แต่คนโหลดฟังฟรี ไม่ยอมซื้อ

ในวันที่แกรมมี่ฯต้องอาศัยคอนเสิร์ตเป็นช่องทางทำรายได้

คอนเสิร์ต G19 ขายบัตร 6 หมื่นใบหมดภายใน 15 นาที

แต่ “อาร์เอส” กลับเลือกที่จะถอนสมอจากวงการเพลง

ประกาศตัวเป็น 7-11 ที่ไม่มีหน้าร้าน

รายได้หลักกลายเป็นการขายเครื่องสำอางในระบบขายตรง

BNK48 กลับแจ้งเกิดขึ้นมาด้วยโมเดลธุรกิจใหม่

มี “เพลง”

มี “ศิลปิน” เหมือนเดิม

แต่กลยุทธ์การทำธุรกิจเปลี่ยนไป

เขาบอกว่าสินค้าของเขา คือ “ความพยายาม”

น้อง ๆ แต่ละคนไม่ได้สวยมาก ร้องเพลงเก่งมาก

แต่ฝึกฝนทุกวัน ไม่ยอมแพ้

เป็น “ไอดอล” ไม่ใช่ “นักร้อง”

คนที่ติดตามหรือที่เรียกว่า “โอตะ” จะเป็นคนให้กำลังใจน้อง ๆ

คล้าย ๆ กับคนที่ติดตามศิลปิน AF

แต่ BNK48 มีช่องทางการให้กำลังใจ

คือ การขายบัตรจับมือ แค่ 8 วินาทีที่ได้จับมือกับ “ไอดอล”

เชื่อไหมครับ ห้างแทบแตก

มีการ live ทุกวันผ่านทางห้องกระจกหรือที่เรียกกันว่า “ตู้ปลา” ที่เอ็มควอเทียร์

“ต้อม” บอกว่า BNK48 เป็น “ไอดอล” ที่เจอง่าย

แต่กติกาเข้มมาก

เช่น ห้ามถ่ายรูปเซลฟีกับน้อง ๆ เด็ดขาด

ถ้าจะถ่ายรูป เดี๋ยวมีบัตรถ่ายรูปขายให้

ลองตีโจทย์ธุรกิจของ BNK48 ดี ๆ มีมุมธุรกิจให้ศึกษาเยอะทีเดียว

แค่พลิกมุมธุรกิจ

“สินค้าเดิม” ก็กลายเป็น “สินค้าใหม่”

ผมนึกถึง คุณตัน ภาสกรนที ในยุคก่อน

เขาบุกตลาดกัมพูชา ขายในงานแข่งเรือซึ่งเป็นงานระดับชาติของกัมพูชา

คุณตันใช้แคมเปญที่ฮิตในเมืองไทย คือ ขายชาเขียว 2 ขวด 40 บาท แถมตุ๊กตา 1 ตัว

แต่โฆษกกัมพูชาประกาศแล้วประกาศอีกก็ไม่มีใครซื้อ เพราะชาวกัมพูชาไม่รู้จักชาเขียวยี่ห้อนี้

แต่คุณตันสังเกตว่าทุกครั้งที่ประกาศมีคนกลุ่มหนึ่งตาลุกวาว

“เด็ก” ครับ

เขาเลยสั่งเปลี่ยนแคมเปญใหม่

ตุ๊กตา 1 ตัว 40 บาท

แถมชาเขียว 2 ขวด

เด็กกระตุกมือพ่อแม่ ต่อคิวซื้อตุ๊กตาชาเขียวเกลี้ยง

ครับ แคมเปญเดิม แต่พลิกกลยุทธ์ใหม่

เหมือน BNK48 ตอนนี้

“บัตรจับมือ 1 ใบ” แถมซีดี 1 แผ่น