รางวัล-ลงโทษ

คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

วันก่อนเห็นข่าวธนาคารออมสินโอนเงินคืนให้กับ “ลูกหนี้ชั้นดี” แล้วชอบมาก

“ลูกหนี้” กลุ่มนี้คือผู้กู้รายย่อยไม่เกินรายละ 3 แสนบาทที่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขทุกเดือนติดต่อกัน 12 เดือน

ใครรักษา “สัญญา” แบงก์ออมสินจะคืนดอกเบี้ยให้ 30% ของที่จ่ายมา

เรื่องนี้ต้องชม คุณชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

เขาเสนอแนวคิดนี้เข้า ครม.ตั้งแต่ธันวาคม 2559

เพิ่งครบกำหนด 12 เดือน เดือนพฤศจิกายน 2560

มีประชาชนรายย่อยที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ 223,537 ราย

เป็นเงิน 626.35 ล้านบาท

เฉลี่ยต่อราย 2,802 บาท

จำนวนเงินสูงสุดต่อราย 12,002 บาท

ธนาคารออมสินเป็นธนาคารของ “คนจน” หรือคนมีรายได้น้อย

เขาเข้าใจความรู้สึกของคนมีรายได้น้อยที่หาเช้ากินค่ำ

เงินกู้ 3 แสนบาท สำหรับชนชั้นกลางถือว่าน้อยมาก

แต่สำหรับคนมีรายได้น้อย…เงินก้อนนี้สูงมาก

ถ้ามองในแง่ความเป็นธรรมแล้ว เป็นเรื่องน่าเศร้าเหมือนกัน

“รายย่อย” คือ คนที่ความสามารถในการชำระหนี้ต่ำกลับเสียดอกเบี้ยสูง

แต่ “รายใหญ่” ที่มีความสามารถในการจ่ายสูง กลับได้ดอกเบี้ยต่ำ

คนที่อ่อนแอ กลับจ่ายมาก คนที่แข็งแรง กลับจ่ายน้อย

แต่ในมุมของแบงก์ เงินที่ปล่อยกู้ก็คือเงินฝากของประชาชน

เขาต้องดูแลและปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง

แบงก์จึงตีความเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่ง

คือ มุมของความสามารถในการชำระหนี้ หรือเรื่องเครดิตทางการเงิน

ใครน่าเชื่อถือกว่าก็จ่ายดอกเบี้ยต่ำ

ในเชิงธุรกิจเข้าใจได้

แต่ในมุมของความเป็นธรรมในสังคม…คนมีรายได้น้อยก็คงอดน้อยใจไม่ได้

แนวคิดของธนาคารออมสินในเรื่องนี้

จึงเป็นการแก้ปัญหา “ความเป็นธรรม” ที่ตรงประเด็น

“รายย่อย” ที่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขทุกเดือนต่อเนื่องกันนาน 12 เดือน

เขาจะให้ “รางวัล”

“รางวัล” นั้นก็คือ คืนดอกเบี้ยให้ 30% ของดอกเบี้ยที่จ่ายให้แบงก์

สมมุติว่าจ่ายมา 100 ก็คืนให้ 30

แบงก์เก็บเอาไว้แค่ 70

หมายความว่า ถ้าชาวบ้านต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ 10% ต่อปี…ก็จะเหลือเพียงแค่ 7% ต่อปี

หรือลดระดับมาเป็นลูกค้าที่ค่อนข้างดี

นี่คือ การปรับฐาน “ลูกค้า” ตามความเป็นจริง

เพราะตอนปล่อยกู้ครั้งแรก แบงก์ไม่มีทางรู้ว่าผู้กู้แต่ละรายนิสัยเป็นอย่างไร จะจ่ายหรือไม่จ่าย

แบงก์จะทำนายเขาจาก “อดีต” คือ ฐานะการเงิน หลักทรัพย์หรือเงินหมุนเวียนทางธุรกิจ

เหมือนดู “โหงวเฮ้ง” ทางการเงิน

เมื่อลูกค้ากลุ่มนี้มีรายได้ต่ำ เขาก็เป็นกลุ่มที่มี “ความเสี่ยง”

แบงก์ต้องคิดดอกเบี้ยสูง

แต่เมื่อพฤติกรรมในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเขาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็น “คนดี”

…รักษาสัญญา

พูดคำไหนเป็นคำนั้น

คนกลุ่มนี้ก็ควรได้รับ “รางวัล” ตอบแทน

แบงก์ออมสินจึงปรับสถานะของเขาตามพฤติกรรมที่แท้จริง

แล้วลดดอกเบี้ยลงไปอยู่ในระดับลูกค้าที่ดี

ผมว่านี่คือการค้าที่เป็นธรรม ไม่ใช่เลยตามเลย

ดูโหวงเฮ้งผิด คิดดอกเบี้ยเขาแพงกว่านิสัยที่แท้จริง

จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้

แบงก์ต้องแก้ไขใหม่ให้เป็นธรรม

ที่สำคัญนี่คือการให้ “รางวัล” แก่คนที่รักษาสัญญา

เขาจะได้มีกำลังใจทำดีต่อไป

ทำดีแล้วได้ดี

คนที่รักษาสัญญาก็ควรได้รับ “รางวัล”

คนไม่รักษาสัญญาควรได้รับ “การลงโทษ”

ครับ…แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ผมขอเตือนว่า ธนาคารออมสินไม่ควรนำผลงานเรื่องนี้ไปรายงานคณะรัฐมนตรีในช่วงนี้เป็นอันขาด

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่อยากได้ยินคำว่า “สัญญา”

ตอนนี้เป็น “ของแสลง” ครับ