บทเรียนจาก “เสือดำ”

คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

สมัยเด็ก ผมชอบนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” ของ “พนมเทียน” มาก

ชอบเรื่องราวการผจญภัยในป่า

ชอบ “รพินทร์ ไพรวัลย์” พระเอกในเรื่อง

เนื้อหาเกือบทั้งหมดเดินเรื่องอยู่ในป่า

พระเอกต้องต่อสู้กับผู้ร้าย ผีสางนางไม้ และสัตว์ป่า

วันนั้น “เสือ” คือสัตว์ป่าที่น่ากลัว

เป็นเหมือน “ผู้ร้าย” ตัวหนึ่งในเรื่อง”รพินทร์” ยิงเสือโคร่งตาย

…เก่ง

ผมเชื่อว่าแฟนนิยาย “เพชรพระอุมา” ในอดีตหลายคนคิดคล้าย ๆ กัน

กาลเวลาผ่านไปหลายสิบปี ใครจะไปนึกว่า “มุมมอง” ต่อเรื่องนี้จะเปลี่ยนไปแบบ “หน้ามือ” เป็น “หลังเท้า”

“เพชรพระอุมา” ยังเป็นนิยายที่อ่านสนุก

แต่ต้องทำความเข้าใจ “วิธีคิด” ของคนในอดีต

เข้าใจบริบทของยุคนั้นว่า ทำไมตัวละครจึงทำแบบนั้น

ถ้าไม่เข้าใจ และใช้มุมมองของคนรุ่นนี้ตัดสิน

“เพชรพระอุมา” จะเป็นนิยายที่ไม่น่าอ่านทันที

เพราะวันนี้ “เข้าป่าล่าสัตว์” ไม่ใช่กิจกรรมของ “ลูกผู้ชาย”

การเอาเปรียบ “สัตว์” ใช้อาวุธที่เหนือกว่าไล่ล่ามันเพื่อความสนุกส่วนตัว

ย่อมไม่ใช่ “ลูกผู้ชาย” อย่างแน่นอน

กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าแรงขึ้นเรื่อย ๆ

แม้แต่ผมที่เคยชอบนิยายเรื่องนี้ยังรู้สึกเช่นนั้น

คนที่เคยชอบยังเปลี่ยนเลย

ไม่แปลกที่ “คนรุ่นใหม่” จะรังเกียจเรื่องการเข้าป่าสัตว์

ยิ่งนานวันความรู้สึกเช่นนี้ฝังรากลึกในใจคนมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อเกิดข่าว “เปรมชัย กรรณสูต” นักธุรกิจใหญ่เจ้าของ “อิตาเลียนไทยฯ” ล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและพบซากเสือดำที่ใกล้สูญพันธุ์ ซากเก้ง ซากไก่ฟ้าหลังเทา ในที่เกิดเหตุ

คนไทยจึงเกิดอารมณ์โกรธแค้นยิ่งกว่าข่าว “นาฬิกาป้อม” หรือ “อดีตผบ.ตร.” ยืมเงิน

“เปรมชัย” กลายเป็น “ผู้ร้าย”

ยิ่งกว่า “เสือโคร่ง” ใน “เพชรพระอุมา”

กระแสที่ถล่มเขาแรงกว่า “ฆาตกร” ฆ่าคนตาย

ไม่ต้องพูดถึงภาพลักษณ์ขององค์กรที่ยับเยินป่นปี้

ในมุมหนึ่ง เป็นเพราะเรื่องกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า

แต่ที่ทำให้เรื่องนี้แรงขึ้น เพราะคนที่ทำผิดเป็น “นักธุรกิจใหญ่”

ยังไม่ทันที่ “เปรมชัย” ขยับอะไรเลย

กระแสสังคมมองไปที่การใช้อิทธิพลปิดคดี

มุมนี้น่าสนใจมาก

เพราะแสดงว่ากระแสสังคมมองว่า “นักธุรกิจใหญ่” เป็น “อภิสิทธิ์ชน”

ลัดขั้นตอน จ่ายใต้โต๊ะ ใช้อิทธิพลปิดคดี ฯลฯ

นี่คือ ประเด็นที่นักธุรกิจต้องระมัดระวัง

ยิ่งโลกยุคนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดีย ที่นอกจากจะกระจายข่าวได้รวดเร็ว

ความเห็นที่แสดงออกมาก็ร้อนแรง

การค้นข้อมูลเก่า ๆ ก็ทำได้ง่ายดาย

“เปรมชัย” หลังถูกจับไม่นาน ก็ปรากฏภาพเก่าที่ไปเที่ยวป่าเมืองกาญจน์ เมื่อปี 2559

อีกพักหนึ่งก็มีรูป “เปรมชัย” กับเก้าอี้ทำงานที่มีหนังเสือคลุมอยู่

ถ้ามองเรื่องนี้แบบเป็น “บทเรียน”

ผมคิดว่านักธุรกิจใหญ่หรือองค์กรธุรกิจต้องตระหนักว่าภาพของ “นักธุรกิจ” ไม่ใช่เป็น “ภูมิคุ้มกัน” ที่ดีสำหรับกระแสสังคมไทยในวันนี้

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความแตกต่าง ทางชนชั้นที่นับวันจะยิ่งห่างออกไปเรื่อย ๆ หรือเปล่า

หรือเป็น “ประสบการณ์” ที่เจอ

การใช้ “อภิสิทธิ์” ของ “คนรวย” บ่อย ๆ

หรือว่าเป็นเรื่อง “ความหมั่นไส้” ของคน

เวลาเกิดเรื่องอะไรขึ้นมา “นักธุรกิจ”

จะเจอกระแสหนักกว่าปกติ

ยิ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่ หรือยิ่งรวย ยิ่งต้องระวัง

เพราะถ้าพลาดขึ้นมา ผลกระทบจะแรงมาก

ด้านหนึ่ง ผมคิดว่านักธุรกิจหรือองค์กรธุรกิจต้องคืนกลับให้สังคมมากขึ้น

อย่า “เอา” มากเกินไป

และต้อง “ให้” แบบอย่าหวังผลตอบแทนมาก

สร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้กับตัวเอง

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญกว่า

นักธุรกิจต้องอย่าเดินบนเส้นทาง “สีเทา” หรือใช้ “วิธีคิด” แบบเดิมที่พยายามหลบตามช่องว่างของกฎหมาย

หรือรู้ว่าผิดกฎหมายแต่ก็ทำไปก่อน

ถ้าโดนจับได้ค่อยใช้เงินแก้ปัญหาทีหลัง

บทเรียนจาก “เปรมชัย” ชัดเจนที่สุด

วันก่อนอาจจะทำได้

แต่วันนี้อันตรายอย่างยิ่ง

“ได้” ไม่คุ้ม “เสีย”