Market-think : เปลี่ยน-ไม่เปลี่ยน

social media
pixabay
คอลัมน์​ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ตอนที่เห็นข่าวโทรทัศน์เริ่มนำคลิปต่าง ๆ ที่มีการแชร์ในโซเชียลมีเดียมาเป็น “ข่าว”

ผมเริ่มได้กลิ่นของ “ความเปลี่ยนแปลง” โชยมา

จากเดิมที่สื่อมวลชนจะเป็นคนทำข่าว

แต่โซเชียลมีเดียทำให้ทุกคนเป็น “นักข่าว” ได้

เห็นอะไร มีอะไรไม่พอใจก็สามารถโพสต์ได้ทันที

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหรือถ่ายคลิป

ถ้าคลิปหรือเรื่องราวนั้นเป็นที่สนใจมีการแชร์ไปเยอะ ๆ

“สื่อ” กระแสหลักก็จะนำ “ข่าว” เหล่านั้นมานำเสนอ

มุมหนึ่ง เหมือนกับลดบทบาทของสื่อ

แต่อีกมุมหนึ่ง เหมือนกับสำนักข่าวมีนักข่าวเพิ่มโดยไม่ต้องจ่ายเงินเดือน

ไม่ว่าจะมองในมุมไหน นี่คือ ความเปลี่ยนแปลง

ตอนนี้ยิ่งหนักขึ้นกว่าเดิมเมื่อมีข่าวทุนจีนสีเทา และพนันออนไลน์

เพราะคนที่เจาะข่าวได้ลึกที่สุด คือ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์”

ไม่ใช่แค่ลึกกว่านักข่าว

แต่ลึกยิ่งกว่าตำรวจอีก

นอกจากนั้นยังมีพวกเพจลึกลับ อย่าง เหยื่อ อีซ้อขยี้ข่าว ฯลฯ ที่เปิดภาพและเบื้องหลังคนที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ที่ลึกมาก

ความได้เปรียบของเพจพวกนี้ คือ เขาไม่ต้องกลัวโดนฟ้องหมิ่นประมาทจึงไม่ต้องเซ็นเซอร์อะไรเลย

ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ทำให้วิธีคิดของสำนักข่าวต่าง ๆ ก็ต้องปรับตามความเป็นจริง

เพราะนอกจากมี “นักข่าว” ประชาชนส่งข่าวใหม่ ๆ ให้แล้ว

ตอนนี้ยังมีนักข่าวแบบ “เจาะลึก” เขียนสกู๊ปมาให้อีก

แต่สิ่งที่สื่อกระแสหลักเหนือกว่าเพจเหล่านั้นก็คือ การนำเสนอข่าวที่รอบด้าน เปิดรับฟังความเห็นทั้งสองฝ่าย ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นั่นคือ การอภิปรายรัฐบาลตามมาตรา 152 ของฝ่ายค้าน

ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

ในอดีตการอภิปรายแบบนี้จะเป็น “นาทีทอง” ที่ฝ่ายค้านจะถล่มรัฐบาล เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ฝ่ายค้านต้องจัดหนัก จัดเต็ม

ส่วนรัฐบาลต้องเล่นทั้งเกมบนดินและใต้ดินเพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านถล่มได้เต็มที่

แต่ในวันนี้ดูเหมือนว่าทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านคงคิดคล้าย ๆ กัน

รัฐบาลนั้นมองว่าโลกที่เปลี่ยนไปทำให้คนไทยลืมง่าย

ข่าวสารใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน

อภิปรายวันนี้ ไม่กี่วันคนก็ลืมแล้ว เพราะมีเรื่องใหม่น่าสนใจกว่า

เขาคิดว่าการเลือกตั้งจะมาถึง อีก 2 เดือนกว่า คนไทยก็ลืมเรื่องที่ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว

ยิ่งตอนหาเสียง ยิ่งมีเรื่องใหม่ ๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด

ในขณะที่ฝ่ายค้านก็เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การอภิปรายครั้งนี้แม้จะใส่เต็มที่เหมือนเดิม

แต่ที่เพิ่มเติมคือการตัดคลิปสั้น ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างการรับรู้ที่กว้างขวางมากขึ้น

การอภิปรายในสภานั้นเหมือนกับคอนเทนต์รูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากการปราศรัยหาเสียง

มีความน่าเชื่อถือมากกว่า

สามารถนำมาใช้หาเสียงได้ในตอนนี้

และเอาไปถล่มซ้ำในอนาคตได้

เพราะอภิปรายในสภา ฟังแล้วจบเลย

แต่ถ้าอยู่ในคลิป เราจะบูตโพสต์สร้างกระแสใหม่เมื่อไรก็ได้

นี่คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

และคงได้เห็นอีกในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้

ครับ ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง

คือ ความคิดในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.

พระอาทิตย์ขึ้นกี่ครั้ง เขาก็ไม่เข้าใจว่าการเคารพเสียงของประชาชนหมายความว่าอย่างไร


เที่ยงวันแล้ว เขาก็ยังคิดว่าเที่ยงคืน