บิ๊กดาต้า

คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

ตอนนี้คำฮิตในวงการธุรกิจ คือ คำว่า “บิ๊กดาต้า”

ยิ่งเข้าสู่โลกดิจิทัล ทุกธุรกิจใช้โซเชียลมีเดีย คำคำนี้ยิ่งมีการพูดถึงเยอะ

อะไร ๆ ก็ “บิ๊กดาต้า”

ข้อมูลของลูกค้ากลายเป็น “เหมืองแร่ทองคำ”

ใครมี “บิ๊กดาต้า” เยอะ ยิ่งได้เปรียบ

แต่ทั้งหมดยังเป็นประโยคบอกเล่าอยู่

เพราะมีน้อยองค์กรมากที่สามารถสังเคราะห์ “บิ๊กดาต้า” เหล่านี้ให้กลายเป็น “รายได้”

ส่วนใหญ่มี “บิ๊กดาต้า” แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะแปร “แร่ทองคำ” ที่อยู่ในเหมืองให้กลายเป็น “ทองแท่ง” ได้อย่างไร

ยกเว้นพวกที่ทำขายของออนไลน์

อย่าง JIB เขาใช้ข้อมูลการซื้อขายของลูกค้าให้เป็นประโยชน์เพิ่มยอดขายในอนาคตได้

เช่น สินค้าตัวไหนที่ลูกค้าเคยสนใจเอาใส่ตะกร้า แต่เอาออกไม่ซื้อเพราะเงินไม่พอ หรือเลือกของที่จำเป็นกว่า

ข้อมูลนี้เขาจะเก็บไว้ จนวันหนึ่งสินค้าตัวนั้นจะลดราคาพิเศษ

ลูกค้าคนนี้จะเป็น “กลุ่มเป้าหมาย”

เพราะเคยแสดงความสนใจให้เห็น

เขาจะส่งข้อมูลไปให้ลูกค้าคนนี้ทันที

หรือกรณีของ Build.com ของ “ไผท ผดุงถิ่น” ก็น่าสนใจ

เขาใช้วิธีการให้ซอฟต์แวร์ด้านบัญชีฟรีกับผู้รับเหมา เพื่อให้ทำงานเป็นระบบ ควบคุมต้นทุนสินค้าได้

สร้างชุมชน “ผู้รับเหมา” ขึ้นมาในเว็บไซต์

เขาเก็บข้อมูลผู้รับเหมาและความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างในแต่ละพื้นที่

จากนั้นก็แปรสภาพ “บิ๊กดาต้า”

ขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ให้กับ “ผู้รับเหมา” กลุ่มนี้

ล่าสุดเขาจัดงาน “รักเหมา Fest 2018 : เปิดกล่อง ส่องเครื่องมือช่าง” ขึ้นมาในวันที่ 9-10 มีนาคมนี้ ที่แอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน

เป็นงานใหญ่สำหรับ “ผู้รับเหมา” และคนที่ต้องการต่อเติมบ้านและอยากได้ผู้รับเหมาดี ๆ

เขานำ “บิ๊กดาต้า” เรื่อง “ผู้รับเหมา” มาแปรสภาพอีกรอบ

แบบนี้ถือว่าใช้ “บิ๊กดาต้า” เป็น

แต่ผมเชื่อว่ายังมีอีกมากมายที่ยังแปร “บิ๊กดาต้า” ให้เป็น “รายได้” ไม่ได้

นี่คือ “โอกาส” ของคนที่มีความรู้เรื่องนี้

ใครทำเป็นและใช้เป็น

คนนั้นคือ “มนุษย์ทองคำ” ของโลกธุรกิจในยุคหน้า

ตอนนี้เท่าที่รู้ว่าวงการแบงก์มีหลายแห่งที่เริ่มคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โมเดลของ “อาลีบาบา” ในจีนสั่นสะเทือนคนในวงการธนาคารมาก

“ข้อมูล” ที่เกิดขึ้นจากการค้าขายกลายเป็น “บิ๊กดาต้า” ที่ดีเยี่ยม

ทำให้เขาปล่อยกู้กับ “ลูกค้า” ของเขาในอาลีบาบาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระดับที่ “ความเสี่ยง” เกือบเท่ากับ 0

เพราะเขารู้ว่าลูกค้ามีรายได้ต่อเดือนเท่าไรจากการขายผ่าน “อาลีบาบา”

จริง ๆ ถ้าเมืองไทยเปิดให้บริษัทต่าง ๆ ปล่อยเงินกู้ได้

แบงก์จะเหนื่อยกว่านี้

นึกถึง 7-11 ศูนย์การค้าที่มี “คู่ค้า” จำนวนมาก

รู้ว่าใครขายดีไม่ดี

บริษัทต่าง ๆ ที่มีเอเย่นต์หรือซัพพลายเออร์จำนวนมาก

รู้ว่าใครเป็นอย่างไร

เขามี “ข้อมูล” ดีกว่าแบงก์อีก

ไม่แปลกที่แบงก์ทุกแบงก์จะเริ่มบุกเรื่อง “คิวอาร์โค้ด” อย่างจริงจัง

เพราะถ้าระบบการซื้อขายสินค้าใช้ระบบนี้เต็มตัวเมื่อไร

แบงก์จะมีข้อมูลของ “ร้านค้า” ต่าง ๆ อยู่ในมือ

เพราะเงินจะผ่านระบบบัญชีแบงก์ก่อน

“ข้อมูล” เรื่องยอดการซื้อขายน่าเชื่อถือกว่า “สินทรัพย์” ที่นำมาค้ำประกันอีก

ต่อไปอาจมีเงื่อนไขปล่อยกู้ แต่หักเงินจากยอดซื้อขายได้เลย

เกมธุรกิจต่อจากนี้ไปคงเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก

เห็นความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วแบบนี้

นึกถึง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เลยครับ

กล้าหาญแท้ทรู…