ก้าวใหม่ GDH

GDH
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ถือเป็นจังหวะก้าวที่น่าจับตามองของ GDH เมื่อค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยเพิ่มช่องทางธุรกิจใหม่

คือ การนำเข้าหนังจากต่างประเทศมาฉายในเมืองไทย

ภายใต้ชื่อ Out of the box by GDH

ชื่อนี้ “พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล เป็นคนตั้ง

จากเดิมที่ GDH จะลงทุนสร้างหนังเพียงอย่างเดียว

ในเชิงคุณภาพไม่มีใครปฏิเสธ GDH

แต่ในเชิงปริมาณ GDH มีปัญหา เพราะปีหนึ่งผลิตหนังได้น้อยมาก

สูงสุดไม่น่าจะเกิน 3-4 เรื่อง

แต่โดยมาตรฐานจะอยู่ประมาณ 2 เรื่อง

ถ้าใครได้เคยฟัง “พี่เก้ง” เล่าเรื่องการทำหนังแบบ GDH จะรู้เลยว่าเขาละเมียดละไมขนาดไหน

บทภาพยนตร์ที่เป็นหัวใจสำคัญของหนัง บางเรื่องใช้เวลาถึง 3-4 ปี

หนังทุกเรื่องต้องผ่านการตรวจทานตามมาตรฐาน GDH

“หนัง” เป็นสินค้าที่ต้องวัดดวงกันทุกเรื่อง

แม้ GDH จะมีแบรนด์ลอยัลตี้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นหนังของค่ายนี้แล้วจะทำรายได้ดี

หนังค่ายอื่นหรือหนังจากค่ายใหม่อาจเริ่มต้นที่ 0 หรือ 1

GDH อาจเริ่มที่ 2 เพราะคนเชื่อในคุณภาพ

เพียงแต่จะดูหรือไม่ดูเรื่องนี้ อยู่ที่หน้าหนังว่าตรงกับรสนิยมของเขาหรือไม่

ถ้าหนังเรื่องไหนแจ็กพอตอย่าง “พ่อมากพระโขนง” ค่าย GDH ก็สบายไปทั้งปี

แต่ถ้าปีไหนแป้กทั้ง 2 เรื่องก็เหนื่อยเลย

จะบอกให้ GDH ผลิตหนังเยอะ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง ด้วยมาตรฐานเดิมที่วางไว้จึงทำได้ยากมาก

การนำเข้าหนังจากต่างประเทศมาฉายในเมืองไทยจึงเป็นช่องทางธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจมาก

เพราะเป็นการใช้แบรนด์ GDH ที่ทรงพลัง โดยใช้เงินน้อยกว่าการสร้างหนังเอง

พอบอกว่าหนังเรื่องนี้ GDH คัดสรรมาแล้ว

ผมเชื่อว่าจะเรียกความสนใจจากแฟน ๆ ของ GDH ได้มากทีเดียว

เหมือนร้านอาหารได้ “เชลล์ชวนชิม” หรือ “มิชลินไกด์”

ร้านไหนได้รับป้ายประกันคุณภาพก็จะมั่นใจได้ว่าจะมีนักกินมาทดลองชิมแน่นร้าน

นอกจากนั้น GDH ยังมีช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ มากมาย มีโซเชียลมีเดียที่ทรงพลังตรงกลุ่มเป้าหมายคนดูหนัง

หนังเรื่องแรกที่เลือกมาก็ไม่ใช่หนังฮอลลีวูด หรือหนังกระแสหลัก

แต่เป็นหนังจากค่าย A24 ค่ายหนังจากเกาหลีใต้ที่มาแรงมาก

“PAST LIVES ครั้งหนึ่ง…ซึ่งคิดถึงตลอดไป”

หนังเรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้ไปฉายใน 2 เทศกาลหนังที่ยิ่งใหญ่ของโลก อย่างเทศกาลหนังซันแดนซ์ 2023 และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน 2023

GDH บอกว่าได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม

แค่เห็นคำโปรยของหนังเรื่องนี้

“เพราะทุกคนมีพื้นที่เล็ก ๆ ในใจที่เก็บใครบางคนเอาไว้ เพื่อคิดถึงตลอดไป”

อ่านปั๊บก็ได้กลิ่น GDH เลย

กลยุทธ์การจัดจำหน่ายหนังจากต่างประเทศครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางการหารายได้เพิ่มที่ใช้เงินลงทุนต่ำกว่าการสร้างหนังเอง

สร้างหนังเองอาจใช้เงินลงทุนประมาณ 10-20 ล้านบาท

รายได้มาจากการฉายในเมืองไทย ขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ และขายให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เน็ตฟลิกซ์ ซึ่งตอนนี้ถือเป็นรายได้หลักทางหนึ่งของหนังไทย

ส่วนการนำเข้าหนังนอกกระแส จากค่ายไม่ใหญ่นัก ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า อาจจะแค่ 3-7 ล้านบาท

แต่มีรายได้ทางเดียว คือ ฉายในเมืองไทย

และ GDH ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั่วโลกเหมือนสร้างเอง

แต่ถ้า “แจ็กพอต” ทำเงินขึ้นมาระดับเดียวกับหนังของ GDH ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่กำไรดีทีเดียว

ที่สำคัญคือ ถ้าแนวทางนี้ประสบความสำเร็จ เขาก็สามารถนำเข้าหนังได้เรื่อย ๆ ปีละหลายเรื่อง

เหมือนซื้ออาหารสำเร็จรูป

“สินค้า” คือ “หนัง” เหมือนกัน แต่ไม่ต้องสร้างเอง

แก้ปัญหาคอขวดในการสร้างหนังของ GDH ที่แก้ไม่ได้เสียที

และอาจเป็นก้าวสำคัญของ GDH ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไปในอนาคต