ธุรกิจ DNA

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

วันก่อนนั่งคุยกับ “แพร” แพรพรรณ ธรรมวัฒนะ เจ้าของร้านของเล่นของสะสม “Play House”

เริ่มจากการคุยเรื่องธุรกิจของเล่นของสะสมของร้าน

เห็นสินค้าแล้วหลายคนคิดว่ากลุ่มลูกค้า คือ กลุ่มเด็ก

เพราะคนเล่น “ของเล่น” ก็ต้องเป็น “เด็ก”

แต่ในโลกแห่งความจริงตรงกันข้ามเลยครับ

“ลูกค้า” ของ Play House ไม่ใช่ “เด็ก”

หากเป็น “คนตัวใหญ่” ที่ “หัวใจเด็ก”

เป็นพ่อแม่ที่อ้าง “ลูก” แต่ซื้อไว้เล่นเอง

หรือคนหนุ่มสาวที่ชื่นชอบ “ตุ๊กตา” หรือของเล่นแบบต่าง ๆ

เหมือนคนชอบสะสมงานศิลปะหรือพระเครื่อง

เมื่อมีคนชอบสะสม คนอีกกลุ่มหนึ่งก็ตามมาทันที

นั่นคือ นักเก็งกำไร

เพราะสินค้าของเล่นของสะสมนั้นเขาจะผลิตออกมาจำนวนจำกัด

ถ้าซื้อไม่ทันก็หาซื้อในร้านไม่ได้แล้ว

แต่หากอยากได้จริง ๆ ไม่เป็นไรครับ

“นักเก็งกำไร” เขาพร้อมขาย

คนกลุ่มนี้พร้อมจะเข้าคิวแย่งซื้อเพื่อนำของมาปล่อยให้นักสะสม

ในราคาที่แพงกว่าเดิม

ยิ่งของชิ้นไหนหายาก และคนอยากได้

ราคาก็จะขยับขึ้นหลายเท่าตัว

“ของเล่น” ราคา 600 ก็พร้อมจะขยับเป็น 30,000 ได้

แม้คนที่อยากได้จริง ๆ จะไม่ชอบนักเก็งกำไร

แต่ในมุมหนึ่ง การมีนักเก็งกำไรก็มี “ข้อดี” เหมือนกัน

เพราะทำให้ของเล่นของสะสมมีมูลค่าเพิ่ม

ทำให้คนที่มีของชิ้นนั้นรู้สึกดีขึ้น

ซื้อมา 1,000 บาท ผ่านได้ 1 ปี ราคาขยับขึ้นเป็น 3,000 บาท

คนซื้อจะรู้สึกดี

รู้สึกจ่ายเงินแล้วคุ้มค่า

ใครว่าก็เถียงได้

ไม่ได้ซื้อของฟุ่มเฟือย

แต่เป็น “การลงทุน”

คล้าย ๆ ผู้หญิงที่ซื้อ “แอร์เมส”

นอกจากเรื่องนี้แล้วมีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก

ตอนนี้ “แพร” เพิ่งได้สิทธิ์การเปิดร้านขายสนีกเกอร์ “atmos” ซึ่งเป็นร้านรองเท้าดังของญี่ปุ่น

ปลายเดือนเมษายนนี้จะเปิดที่เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นสาขาแรก

คนที่ชอบรองเท้าผ้าใบจะรู้จักร้าน atmos เป็นอย่างดี

เพราะเป็นร้านมีรองเท้ารุ่นหายากของแบรนด์ดัง ๆ

ไปญี่ปุ่นต้องไปร้านนี้

atmos นั้นมีอำนาจต่อรองสูงมากกับ NIKE adidas และแบรนด์ดัง ๆ

สามารถล็อกรองเท้ารุ่นที่ต้องการได้จำนวนมาก ๆ ได้

หรือเหมาทั้งรุ่นเลย

ขายที่ atmos แห่งเดียว

หรือถึงขั้นคุยกับ nike ทำรองเท้ารุ่นพิเศษของ NIKE ร่วมกับ atmos ได้

ไม่ธรรมดาจริง ๆ

ผมถาม “แพร” ว่าทำไมมาทำธุรกิจสนีกเกอร์

เพราะไม่ได้เชื่อมโยงอะไรกับธุรกิจของเล่นเลย

ชอบเป็นการส่วนตัวรึเปล่า

ก็ไม่ใช่

เพราะ “แพร” เธอเป็นสาวสายรองเท้าส้นสูง

ไม่ใช่รองเท้ากีฬา

คำตอบที่ได้แปลกมากครับ

เชื่อไหมครับว่าคนที่ชอบรองเท้าสนีกเกอร์กับของเล่น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกัน

“แพร” สังเกตว่าคนที่มาซื้อของเล่นของสะสมในร้าน Play House ส่วนใหญ่ใส่รองเท้าผ้าใบที่ไม่ใช่รุ่นที่หาได้ทั่วไป

แต่เป็น “รุ่นหายาก”

เป็นพวกเล่น “รองเท้า” ครับ

ที่สำคัญเจ้าของร้าน atmos ก็เช่นกันชอบของเล่นของสะสมครับ

รู้จักกับ “แพร” ก็เพราะมาดูงาน Thailand Toy Expo ที่เธอเป็นคนจัดงาน

ครับ ธุรกิจที่แตกต่างกัน บางทีค้นลึกลงไปถึง DNA

ลูกค้าอาจเป็นกลุ่มเดียวกันก็ได้


ถ้าเราเป็นคนสังเกตดี ๆ